สุพัฒนพงษ์ พร้อมถอย ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่ ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

“สุพัฒนพงษ์” พร้อมถอย ปมให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่ แลกกับการลงทุน รอกฤษฎีการับฟังความคิดเห็น-ปรับแก้ ถ้าประชาชนไม่เอา ก็พร้อมถอย ชี้ยังมีเครื่องมืออื่นดูดนักลงทุนต่างชาติ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงประเทศไทย (คสตช) ครั้งที่ 1/2565 (หรือ LTR) ว่า เป็นการรับทราบความคืบหน้าโครงการ LTR ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ที่สนใจระดับหนึ่งประมาณ 1,300 กว่าราย มาจากหลายประเทศกระจายกัน ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ เรายังต้องทำแผนประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น รวมถึงในช่วงการประชุมเอเปคก็จะใช้โครงการนี้ประชาสัมพันธ์ ดึงดูดผู้มีศักยภาพเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทย นอกจากจะได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาประเทศไทย เรายังได้รายได้เพิ่มเติมเข้ามาในแง่รายได้ต่อหัว

ส่วนการตั้งเป้าที่จะดึงกลุ่มต่างชาติ 1 ล้านคน ภายใน 5 ปีนั้น ก็ต้องตั้งเป้าไว้ก่อน ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่เงื่อนไขต่าง ๆ เพราะมีหลายประเทศที่มีลักษณะในการดึงดูดกลุ่มผู้มีศักยภาพสูงเหมือนกับเรา เมื่อเราประกาศ บาหลีก็ประกาศ มีระยะเวลาวีซ่า 10 ปี เช่นกัน รวมถึงมีความสะดวกเพิ่มขึ้นด้วย

“อย่างน้อยให้เห็นว่า เมื่อประเทศไทยขยับ หลายประเทศก็มีความเป็นห่วงว่าประเทศไทยมาแรง และเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ และเขาคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีความเหมาะสมและเป็นที่สนใจแก่ผู้มีศักยภาพสูง จึงต้องออกมาตรการมาดึงดูดเพิ่มเติม” นายสุพัทธพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงการคัดค้านร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ที่ให้ต่างชาติถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีการลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และคงการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปีว่า ร่างดังกล่าวก็เป็นทางเลือก ตนไม่ได้คิดว่าเราต้องมีสิ่งนี้แล้ว LTR จะไม่สำเร็จ

เพราะ LTR คือการพำนักระยะยาว โดยการเช่าระยะยาว 30 ปี บวก 30 ปี ก็ทำได้ จะซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% ก็ย่อมทำได้ หรือจะนอนโรงแรมก็ได้ ส่วนเรื่องการให้ต่างชาติครอบครองที่ดินได้ 1 ไร่ก็เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ประสงค์อยู่ประเทศไทย และอยากจะเข้าระบบ ไม่อยากไปใช้กระบวนการช่องว่างทางกฎหมาย

“แต่หากขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ มีการแก้ไข ถ้าไม่เป็นที่ยอมรับหรือต้องแก้ไขอะไรก็เอามาดูกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ไม่ผ่านการเห็นชอบ จะขาย LTR บวกกับกฎกระทรวงฉบับเก่าเมื่อปี 2545 หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ก็กฎกระทรวงเดิมมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขายพ่วง ถ้าได้กฎกระทรวงใหม่ก็เป็นเครื่องมืออีกทางหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ เพราะประชาชนยังไม่ยอมรับก็มีทางเลือกอื่นอยู่ดี

เมื่อถามว่าถูกคัดค้านจากสังคมต่อเนื่องจะทำอย่างไร นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้พ้นจากตนไปแล้ว ถ้ากระแสแรงไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ไปใช้ทางเลือกอื่น ก็ไปเช่าเอา ซึ่งเขาก็ทำอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า เหมือนส่งสัญญาณพร้อมที่จะถอยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่าไม่ถึงกับพร้อมถอย เพราะเป็นขั้นตอนตามคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังต้องการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งขั้นตอนนี้พ้นจากตนไปแล้ว

ส่วนกรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย บอกว่า ถ้าประชาชนไม่พอใจก็อาจจะยกเลิกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า อย่างที่ พล.อ.อนุพงษ์ บอก เพราะเรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะต้องไปถามความเห็น ถ้าประชาชนไม่ยอมรับ พล.อ.อนุพงษ์ ยอมรับตามเสียงของประชาชน ตนก็ไม่ขัดข้อง

เพราะพ้นจากตน และพ้นจาก พล.อ.อนุพงษ์ ไปแล้ว ถ้าผลออกมาไม่เป็นที่ถูกใจ มีข้อกังวลอยู่มาก จนเกิดความกังวล กระทั่งเป็นเหตุไม่จำเป็นต้องมี หรือต้องแก้ไข เราก็พร้อมดำเนินการในทางเลือกที่มีอยู่แล้ว เพราะเรื่องที่ดินกับเรื่อง LTR เป็นคนละเรื่องกัน

เมื่อถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่ร่างกฎกระทรวงจะถูกพับ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า อย่าเรียกว่าพับกฎหมาย เขาเรียกว่าประกาศการแก้ไขแล้วกัน ก็ต้องดูผล แล้วแต่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะเอาไปแก้ไข เพราะตอนที่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากกระทรวงต่าง ๆ ก็จะนำไปประกอบในประกาศ แล้วนำเสนอให้ประชาชนพิจารณา ถ้าประชาชนดูแล้วไม่รัดกุมพอ มีความกังวล ก็ชะลอ ยุติ หรือพอรับได้ก็แก้ไข สุดท้ายอยู่ที่ประชาชน กับผู้ประกอบการ แต่ LTR คนละกรณีกันเราก็เดินหน้าต่อ ส่วนทางเลือกให้เขาพำนักอาศัยแบบไหนก็ยังมีหลายทางเลือก

ส่วนชาวต่างชาติจะซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นที่อยู่อาศัยได้หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “ต้องอยู่อาศัยอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมได้ไหมล่ะ เราจะอยู่อาศัยในโรงงานก็ใช่ที่”