คมนาคมไฟเขียว ขึ้นค่าแท็กซี่ เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ 80,000 คัน

แท็กซี่
(แฟ้มภาพ)

คมนาคมไฟเขียว ขึ้นค่าแท็กซี่ เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน 8 หมื่นคัน สตาร์ตรถเล็ก 35 บาท รถใหญ่ 40 บาท ก่อนปรับราคาขึ้นตามระยะเดินทาง ส่วนค่ารถติด กรณีรถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า 6 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.)​ รถเล็ก 3 บาทต่อนาที รถใหญ่ 3 บาทต่อนาที พร้อมเตรียมเสนอ “ศักดิ์สยาม”​ ก่อนประกาศเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป 

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565​ ที่กระทรวงคมนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรี​ว่าการ​คมนาคม นางสุขสำรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม พร้อมนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วมประชุมหารือกับผู้แทน 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า และบริษัท​ โฮวา จำกัด เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ (ประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565) ซึ่งช่วงเช้าของวันดังกล่าวมีสมาชิกแท็กซี่มากดดันหน้ากระทรวงคมนาคมกว่า 200 คน

นายวิรัชเปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ชี้แจงที่ประชุมว่า การพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารดังกล่าวเป็นการดำเนินการในรูปแบบของคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ และได้รับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สำนักสภาองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้แทนภาคประชาชน รวมถึงผู้แทนสหกรณ์แท็กซี่ต่าง ๆ

นายวิรัชกล่าวอีกว่า ขนส่งทางบกขอให้ 4 สมาคมรับอัตราค่าโดยสารที่ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานนี้ไปก่อน เพื่อให้สามารถไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้นพอสมควร โดยประชาชนไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป ซึ่งท้ายที่สุดทางผู้แทน 4 สมาคมได้ยอมรับอัตราดังกล่าว จากนั้น ขบ.รับที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม มีความเป็นสากล รวมถึงการจัดหาแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างของมิเตอร์แท็กซี่ให้มีความเหมาะสมกับปัจจุบันและเป็นสากล

ส่วนในขั้นต่อไป จะมีการออกประกาศกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ใหม่ ก่อนเริ่มให้มีการจูนมิเตอร์ โดยผู้แทน 4 สมาคมขอให้ กรมการขนส่งทางบก ช่วยเหลือให้ค่าจูนมิเตอร์มีราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ผู้ขับรถแท็กซี่จนเกินไป พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่ในการปรับจูนมิเตอร์ให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วต่อไป

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ในมติที่ประชุมครั้งนี้ เห็นชอบแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ตามที่ ขบ. และทีดีอาร์ไอเสนอว่าจะปรับอัตราค่าโดยสารในราคาที่เหมาะสมดังนี้ ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.)​ แรก รถเล็ก 35 บาท รถใหญ่ 40 บาท ระยะทาง 2-10 กม. รถเล็ก กม.ละ 6.50 บาท รถใหญ่ กม.ละ 6.50 บาท ระยะทาง 11-20 ก.ม. รถเล็ก กม.ละ 7 บาท รถใหญ่ กม.ละ 7 บาท ระยะทาง 21-40 กม. รถเล็ก กม.ละ 8 บาท รถใหญ่ กม.ละ 8 บาท ระยะทางเกินกว่า 41-60 กม. รถเล็ก กม.ละ 8.50 บาท รถใหญ่ กม.ละ 8.50 บาท ระยะทาง 61-80 กม. รถเล็ก กม.ละ 9 บาท รถใหญ่ กม.ละ 9 บาท ระยะทาง 81 กม. ขึ้นไป รถใหญ่ กม.ละ 10.50 บาท รถใหญ่ กม.ละ 10.50 บาท ค่ารถติด กรณีรถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า 6 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.)​ รถเล็ก 3 บาทต่อนาที รถใหญ่ 3 บาทต่อนาที

ขึ้นราคารถแท็กซี่ใหม่

“หลังจากประชุมครั้งนี้แล้วกรมการขนส่งทางบก จะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.​คมนาคม เห็นชอบมติผลประชุมครั้งนี้ ภายใน 1-2 สัปดาห์ หากได้รับความเห็นชอบแล้ว ต้องประกาศกฎกระทรวงในการปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ โดยมี รมว.คมนาคม เป็นผู้ลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป” นายจิรุตม์ กล่าว และว่า

ในการปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ มีผลเฉพาะแท็กซี่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในระบบทั้งหมด 80,000 คัน จากที่ให้บริการจริงในปัจจุบัน 60,000 คัน โดยหลังจากมีมติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว จำนวนรถแท็กซี่ที่มีอยู่ต้องนำมาปรับจูนมิเตอร์ค่าโดยสารใหม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยขนส่งทางบกจะเตรียมพื้นที่รองรับจำนวนรถแท็กซี่ที่ดำเนินการปรับมิเตอร์ราคาใหม่ครั้งนี้ด้วย เพื่อความรวดเร็ว และลดแออัดในการดำเนินการ

นายจิรุตม์กล่าวอีกว่า หลังจากปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว เน้นย้ำแท็กซี่ในเรื่องพัฒนาคุณภาพให้บริการที่ดี อาทิ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร หากพบว่ามีการกระทำผิดจะลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบตัดแต้มใบอนุญาตขับรถ หรือหากมีการทำผิดซ้ำจะพักใช้ใบอนุญาตขับรถ 3-6 เดือน และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถแล้วแต่กรณี


ส่วนแท็กซี่ต่างจังหวัดในการปรับขึ้นค่าโดยสารนั้น สำนักงานขนส่งจังหวัดในพื้นที่ต่าง ๆ จะเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากแท็กซี่ต่างจังหวัดมีอัตราค่าโดยสารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเมืองท่องเที่ยว อาทิ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต มีอัตราค่าครองชีพสูงมาก ทำให้อัตราค่าโดยสารไม่เท่ากัน