
ยอดผู้สูญหายเรือหลวงสุโขทัย ยังคงค้างที่ 5 นายมาข้ามปีแล้ว ผบ.ทร. ยืนยันภารกิจค้นหาเดินหน้าต่อไป หวังมีปาฏิหาริย์
วันที่ 3 มกราคม 2566 พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวที่ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา เขตบางกอกน้อย กทม. ถึงความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง 5 นาย ว่ายังไม่เลิกหรือลดกำลังพลในการค้นหา แต่ได้ปรับแผนการค้นหาในพื้นที่ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต เช่น เกาะแก่งต่าง ๆ ใช้เรือยางขนาดเล็กเข้าไปในพื้นที่ ทั้งชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงขอสนับสนุนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในการส่งกำลังไปช่วยดูแลและค้นหา
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังหวังให้มีปาฏิหาริย์หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า เราก็ยังหวัง ทางครอบครัวก็ยังหวังอยู่เช่นกัน กองทัพเรือก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด
สำหรับความคืบหน้าการสอบสวน ผบ.ทร.กล่าวว่า เราตั้งคณะสอบสวนมาสองชุดคณะแรกคือเหตุผลที่ทำให้เรืออับปาง คณะที่สองจะสอบสวนขั้นตอนการปฏิบัติ ตั้งแต่เมื่อเรือจะจม เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการค้นหาเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ผลการสอบสวนยังไม่ออกมา
นอกจากจะสอบสวนกำลังคนที่รอดชีวิตมาแล้ว ยังต้องสอบสวนบุคคลภายนอก เช่น เรือสินค้าและเรือน้ำมันที่เข้ามาช่วยเหลือกำลังพล ก็ต้องเข้าไปสอบสวนว่าทราบเรื่องและเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร ดังนั้นในขั้นตอนการสอบสวนจึงต้องใช้เวลา ซึ่งไม่ได้เร่งรัดกำหนดเวลาว่าจะเสร็จเมื่อใด ให้คณะกรรมการไปดูแนวทาง และปริมาณงาน ว่าต้องใช้เวลาสอบสวนเท่าไร เมื่อได้ผลการสอบสวนก็จะนำมาชี้แจงให้ทราบต่อไป
ส่วนเรื่องที่มีคำถามว่า การซ่อมเรือช่วงปี 2561 ถึง 2563 ว่ามีปัญหา ผบ.ทร.กล่าวว่าต้องไปอยู่ในการสอบสวน ตอนนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาโจมตี และเชื่อมโยงเรื่องเครื่องยนต์ของเรือหลวงสุโขทัยเป็นรุ่นเดียวกับเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ผบ.ทร.ชี้แจงว่า ไม่ใช่เครื่องเดียวกับจีน เพียงเป็นเครื่องตราอักษรเดียวกัน คือ MTU ซึ่งการสื่อสารอาจจะผิดพลาด ซึ่งเรือในกองทัพเรือกว่า 80% ก็ใช้เครื่อง MTU ซึ่งมีหลายรุ่นและหลายเวอร์ชั่น เพราะฉะนั้นเขาอาจไปโยงว่าเป็นเครื่องตราอักษรเดียวกัน แต่ไม่ใช่เครื่องชนิดเดียวกันเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่ากรอบระยะเวลาและวางแผนการกู้เรือนั้น พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่าขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการในการกู้เรือ โดยมีพลเรือเอกอะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานคณะกรรมการ ได้ประชุม และสำรวจ บริเวณใต้น้ำที่เรือจม เพื่อวางแผนในการกู้เรือ ซึ่งจะต้องใช้เวลา เพื่อต้องดูวิธีและเรื่องของเทคนิค รวมถึงบริษัทที่สามารถดำเนินการได้ และงบประมาณที่ต้องใช้
ด้าน พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวสรุปปฏิบัติการค้นหากำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษของ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ได้แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุดประกอบด้วย ชุดค้นหาใต้น้ำ ชุดค้นหาผิวน้ำ และชุดค้นหาบนเกาะ
โดยได้ปูพรมค้นหา ตามเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร รวมถึงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรซึ่งมีเกาะทั้งหมด 32 เกาะ ปัจจุบันทำการสำรวจไปแล้ว 24 เกาะ เหลือเกาะที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจ 8 เกาะ
วันที่ 3 ม.ค.จะเข้าสำรวจ อีก 8 เกาะที่เหลือ ประกอบด้วย เกาะคางเสือ เกาะรังห้า เกาะมะพร้าว เกาะยอ เกาะขี้นก เกาะรางบรรทัด เกาะคราม และเกาะพิทักษ์ ทั้งนี้หากเป็นไปตามแผน ก็จะสำรวจครบทุกเกาะของจังหวัดชุมพร ในวันนี้
ขณะที่กำลังของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาคที่ 1 หรือ ศรชล.ภาค 1 ยังคงวางกำลังในพื้นที่ค้นหา ตั้งแต่ท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยมุ่งเน้นการสำรวจตามชายหาดและโดยรอบเกาะต่าง ๆ
ผลการปฏิบัติจนถึงเวลา 11.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2566 ยังไม่พบผู้สูญหายเพิ่ม
สรุปยอดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วันที่ 3 มกราคม 2566 กำลังพล 105 นาย รอดชีวิต จำนวน 76 นาย เสียชีวิตรวม 24 นาย ในจำนวนนี้สามารถระบุชื่อได้แล้ว 23 นาย และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นกำลังพลกองทัพเรือและอยู่ในกระบวนการของการพิสูจน์เอกลักษณ์เพื่อยืนยันตัวบุคคล 1 นาย คงเหลือผู้สูญหายจำนวน 5 นาย
สำหรับรายชื่อกำลังพลที่เสียชีวิต ซึ่งสามารถเพื่อยืนยันตัวบุคคลได้แล้ว จำนวน 23 นาย ประกอบด้วย
- ว่าที่เรือเอก สามารถ แก้วผลึก
- พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์
- พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ
- พันจ่าเอก อำนาจ พิมที
- จ่าเอก จักร์พงศ์ พูลผล
- จ่าเอก บุญเลิศ ทองทิพย์
- จ่าเอกชูชัย เชิดชิด
- จ่าโท ธวัชชัย สาพิราช
- จ่าโท สหรัฐ อีสา
- จ่าตรี สถาพร สมเหนือ
- จ่าตรี นพณัฐ คำวงค์
- จ่าตรี ศุภกิจ ทิวาลัย
- จ่าตรี ศราวุธ นาดี
- จ่าตรี สิริธิติ งามทอง
- พลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ
- พลทหาร จิราวัฒน์ ธูปหอม
- พลทหาร สิทธิพงษ์ หงษ์ทอง
- พลทหาร วรพงษ์ บุญละคร
- พลทหาร ปรีชา รักษาภักดี
- พลทหาร จำลอง แสนแก
- พันจ่าเอก คุณากร จริยศ
- พลทหาร ชลัช อ้อยทอง
- จ่าเอก ไพร ร่วมญาติ
รายชื่อกำลังพลที่ยังคงสูญหาย รวม 6 นาย มี 1 นายที่อยู่ในระหว่างการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลซึ่งยังไม่ได้ตัดยอดในจำนวนนี้)
กำลังพล เรือหลวงสุโขทัย จำนวน 3 นาย
1. ว่าที่ นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม
2. จ่าตรี โสภณ วงษ์สนิท
3. พลทหาร ชัยชนะ ช่างวาด
กำลังพล หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 2 นาย
1.พันจ่าเอก จิราวัฒน์ เจริญศิลป์
2. พลทหาร ทวีศักดิ์ แซ่เซียว
กำลังพล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จำนวน 1 นาย คือ
– พลทหาร อับดุลอาซิส มะแอ