อยู่บ้านก็อาจไม่พ้นฝุ่นพิษ วิจัยชี้เตาแก๊สก็ปล่อย PM2.5

งานวิจัยหลายชิ้นให้ผลตรงกันว่า เตาแก๊สปล่อย PM 2.5 และสารพิษอีกหลายชนิด ซึ่งมีส่วนก่อโรคหอบหืดในเด็กชาวสหรัฐ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะที่วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ทำให้หลายคนเลือกหลบภัยอยู่ในบ้าน แต่บ้านอาจไม่ใช้สถานที่ปลอดภัยอย่างที่คิด เมื่องานวิจัยหลายชิ้นสรุปผลไปทางเดียวกันว่า “เตาแก๊ส” อุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกครัวเรือนมีและใช้งานกันแทบทุกวันนั้นเป็นตัวการปล่อยมลพิษ ทั้งฝุ่น PM 2.5 และแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหอบหืดในเด็ก

โดยผลการศึกษาพบว่า ขณะใช้งานทำอาหารเตาแก๊สจะปล่อยฝุ่น PM 2.5, คาร์บอนมอนออกไซด์, ฟอร์มัลดีไฮด์ รวมถึงไนตริกออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปอด และแม้ขณะไม่ได้ใช้งานยังพบการปล่อยสารพิษอย่าง เบนซีนที่เป็นสารก่อมะเร็งออกมาด้วยเช่นกัน

Advertisement

การศึกษาของ PSE Healthy Energy ซึ่งเก็บตัวอย่างอากาศจากครัวเรือนที่ใช้เตาแก๊สในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ พบว่ามีเบนซีนอยู่ใน 99% ของตัวอย่าง อีกทั้งยังพบไซลีน, โทลูอีน และเอทธิลเบนซีน ที่ต่างเป็นอันตรายกับระบบทางเดินหายใจและอาจก่อมะะเร็งได้

“เจฟ สคอนนอฟ” กรรมการบริหารของ PSE Healthy Energy เปรียบเทียบว่า ปริมาณสารเบนซีนที่พบในบ้านที่มีเตาแก๊สนั้นใกล้เคียงกับบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่

สอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายฉบับที่เผยแพร่ในวารสารต่าง ๆ อาทิ งานวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ระบุว่า ในเวลาเพียง 1 นาที เตาแก๊สและเตาอบบางชนิดปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณเกินกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (EPA) กำหนดสำหรับพื้นที่กลางแจ้งเสียอีก

Advertisement

รวมถึงงานวิจัยในวารสารนานาชาติด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ที่สรุปผลว่า เคสการป่วยโรคหอบหืดในเด็กสหรัฐนั้น 12.7% หรือประมาณ 6.5 แสนราย เป็นผลของสารพิษจากเตาแก๊ส

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการรับมือกับมลพิษที่เกิดจากเตาแก๊สอยู่ โดย “ไวเน อาร์มาน” แพทย์ของ Massachusetts General Hospital ระบุในบทความที่เผยแพร่ในบล็อกของสำนักพิมพ์ Harvard Health ว่าสามารถลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และแก๊สพิษการใช้งานเตาแก๊สได้หลายวิธี อาทิ เพิ่มการระบายอากาศด้วยการเปิดหน้าต่าง ติดตั้งพัดลมดูดควัน ใช้เครื่องฟอกอากาศ ไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้เตาไฟฟ้า เป็นต้น

 

Advertisement