กทม.คืนฟุตปาทให้คนเมือง คุมกำเนิด 21,368 หาบเร่แผงลอย

หาบเร่ กทม.

ภาพจากลิ้นชักความทรงจำของ “จักกพันธุ์ ผิวงาม” สถานการณ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตามฟุตปาทเมืองกรุง เกิดขึ้นในยุครอยต่อ 2 ผู้ว่าราชการ กทม. “พลตรีจำลอง ศรีเมือง-กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา”

จากจุดเริ่มต้นมีทั้งแบบใช้คานหาบ หรือรถเข็นเดินขายไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นคนละภาพกับหาบเร่แผงลอยในปัจจุบัน ที่มีการตั้งขายประจำจุดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หลังจากนั้น กิจการหาบเร่แผงลอยก็เบ่งบานเต็มท้องถนนกรุงเทพฯ จนกระทั่งมีกฎหมายออกมาควบคุมโดยตรง คือ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองปี 2535

ผู้ค้าหาบเร่ 2.1 หมื่นราย

“ถ้าผมจำไม่ผิด หาบเร่แผงลอยมีการเริ่มผ่อนผันครั้งแรกในยุคที่ก้ำกึ่งระหว่างผู้ว่าฯจำลอง ศรีเมือง กับผู้ว่าฯกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่เริ่มผ่อนผันให้มีจุดหาบเร่แผงลอยค้าขายได้ ยุคปัจจุบันมีการใช้ฟุตปาทคล้าย ๆ หน้าร้านของผู้ค้าไปแล้ว”

ในฐานะรองผู้ว่าฯที่กำกับดูแลสำนักรักษาความสะอาด ผู้ว่าราชการ กทม.คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มอบนโยบายจัดระเบียบทางเท้าหรือฟุตปาทไว้ว่า “…ให้คนเดินเท้ามาก่อน รวมถึงจัดหาพื้นที่เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าอยู่ได้ อาจจะใช้พื้นที่เอกชนหรือในซอยแยกออกไป”

นำมาสู่แนวปฏิบัติในการจัดระเบียบการค้าบนทางเท้า ลำดับแรก กทม.ยึดตาม “ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ” ที่มีการวางระเบียบในการจัดสถานที่วางขายบนทางเท้า โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ด้าน

คือ 1.ถนนต้องมีช่องทางจราจรตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป 2.หลังจากวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3.ไม่กระทบและกีดขวางการจราจร

ทั้งนี้ การจัดระเบียบทางเท้าจำเป็นต้องทำงานข้ามส่วนราชการ โดย กทม.ประสานความร่วมมือใกล้ชิดกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล

อัพเดตล่าสุด สถิติมีพื้นที่ทำการค้าบนทางเท้ารอบกรุงเทพฯ 95 จุด จำนวนผู้ค้า 6,048 ราย เจ้าพนักงานจราจรให้ความเห็นชอบแล้ว 86 จุด ผู้ค้า 5,419 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,817 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,602 ราย เสนอทบทวนเจ้าพนักงานจราจร 9 จุด ผู้ค้า 629 ราย

ส่วน “ผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน” มี 697 จุด จำนวนผู้ค้า 15,320 ราย ซึ่งหมายถึงผู้ค้านอกจุดผ่อนผันมีมากกว่าผู้ค้าในจุดผ่อนผัน 3 เท่าตัว

จักกพันธุ์ ผิวงาม
จักกพันธุ์ ผิวงาม

กฎเหล็กเพิ่มสเปซคนเดินเท้า

การจัดระเบียบทางเท้าที่ดำเนินการมาได้ 8 เดือนเต็ม กทม.วางข้อกำหนดเพิ่มเติม 7 ข้อในจุดที่ได้รับอนุญาตแล้ว ดังนี้

1.ทำการค้าด้วยตนเอง 2.ตั้งวางอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนด 3.ร่มแผงค้า ร่มอุปกรณ์การค้า มีขนาดลักษณะตามที่กำหนด 4.ห้ามวางกองสินค้า แผงค้า รถเข็น ลังหรืออุปกรณ์ใส่สินค้าบนถนน 5.ไม่ขายสินค้าบนรถหรือบนถนน รวมทั้งไม่นำรถยนต์ รถจักรยานยนต์พ่วงข้างขึ้นไปจอดขายสินค้าบนทางเท้า 6.ดูแลรักษาความสะอาด ไม่เททิ้งขยะ น้ำล้างภาชนะลงในท่อระบายน้ำ

7.ไม่ตั้งวางแผงค้าในบริเวณห้าม ได้แก่ 7.1 ในระยะ 10 เมตร จากป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง จุดที่หยุดหรือจอดรถโดยสารสาธารณะ 7.2 ในระยะ 10 เมตร จากทางขึ้นลงสะพานลอยคนเดินข้าม บริเวณใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟต์สำหรับผู้พิการ

7.3 ในระยะ 3 เมตร ทั้ง 2 ด้านของทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย 7.4 ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก ในระยะ 5 เมตร จากช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย 7.5 ในระยะ 3 เมตร จากห้องสุขาสาธารณะ 7.6 ในระยะ 3 เมตร จากจุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) 7.7 ในระยะ 1 เมตร จากบริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์

คุมกำเนิดรายเก่า-ไม่เพิ่มรายใหม่

ไฮไลต์การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ต้องการคุมกำเนิดผู้ค้า ทอนออกมาเป็นกติกา 8 ข้อ

ประกอบด้วย 1.ในทุกจุดไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ค้า 2.ในพื้นที่จุดผ่อนผัน จัดระเบียบให้เรียบร้อย ขอความร่วมมือในการทำแผ่นกั้นเพื่อความเรียบร้อย 3.ยังไม่มีการเพิ่มจุดผ่อนผัน

4.ในพื้นที่นอกจุดผ่อนผัน ห้ามเพิ่มจำนวน ห้ามกีดขวางทางเดิน ไม่ให้สกปรกรกรุงรังโดยเด็ดขาด ในพื้นที่ที่กีดขวางทางเดินให้ดำเนินการขยับเข้าไปขายในจุดที่พื้นที่เอกชนหรือในซอยย่อยที่ไม่เกะกะ กำหนดเส้นทางหลักที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมือง ในพื้นที่ซอยย่อยที่ย้ายเข้าไปแล้ว ต้องดูแลไม่ให้กีดขวางทางเดิน

5.ให้มีกรรมการชุดย่อยรายเขต ช่วยดูแลรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ของเขต 6.ให้มีกรรมการชุดใหญ่กำหนดเส้นทางหลัก แนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 7.จัดหาพื้นที่เอกชน และภาครัฐในการจัดทำ hawker centers ให้เป็นรูปธรรม และ 8.เจรจากับเอกชน เพื่อหาพื้นที่รองรับในการจัดระเบียบผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน 697 จุดดังกล่าว

โดยมีโครงการนำร่อง 9 โซนหลัก ได้แก่ 1.โบ๊เบ๊ 2.สะพานควาย-จตุจักร 3.ห้าแยกลาดพร้าว 4.รัชดา-ห้วยขวาง 5.วัดมังกร 6.ราชประสงค์-เพชรบุรี 7.เพลินจิต-ทองหล่อ 8.สาทร-สีลม-พระราม 4 และ 9.แยกคลองเตย

Hawker Center ค่าเช่าไม่แพง

กทม.ลงลึกรายละเอียด โดยเจ้าภาพคือ “สำนักเทศกิจ” ติดตามลงทะเบียนผู้ค้านอกจุดผ่อนผันเพื่อเป็นฐานข้อมูล จากนั้นจะดำเนินการหาพื้นที่สำหรับการค้าทดแทน จุดใกล้เคียงกันที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยรายจะจัดระเบียบด้วยการยุบรวมให้เป็นจุดเดียว

ทั้งนี้ การหาพื้นที่รองรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยหรือ hawker center ทั้งสถานที่ราชการ ศาสนสถาน พื้นที่ของเอกชน โดย กทม.เป็นตัวกลางการเจรจา หากมีค่าเช่าให้คิดค่าเช่าต่ำและช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายในพื้นที่ใหม่ ล่าสุด ประสบความสำเร็จแล้ว 18 เขต จำนวน 22 จุด รองรับผู้ค้า 1,095 ราย

หนึ่งในไฮลต์อยู่ระหว่างหารือกับศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อใช้พื้นที่ว่างปรับปรุงเป็น hawker center โดยเดอะมอลล์รับปากจะมีการจัดเก็บค่าเช่าในราคาไม่แพง ทำการค้าได้ตั้งแต่เช้าจนถึง 1 ทุ่ม

โมเดลนำร่องสำหรับ hawker center เกิดใหม่ กทม.หารือร่วมกับผู้จัดการตลาดในซอยพัฒน์พงศ์ รองรับผู้ค้าหาบเร่บนถนนสีลม มีการคิดค่าเช่าเป็นล็อก พื้นที่ 2×2 เมตรหรือ 4 ตารางเมตร ในอัตรา 150 บาท/วัน ค่าหลอดไฟ 5 บาท/หลอด และยกเว้นค่าเก็บขยะสำหรับผู้ค้า โดยไม่มีค่าเช่าล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันได้ให้ผู้ค้าเข้าไปเช่าพื้นที่แล้ว

“ประเด็นปัญหาความสะอาดนั้น ทุก ๆ จุดทำการค้าในพื้นที่ทางเท้าห้ามทิ้งน้ำเสียและขยะอยู่แล้ว หากมีการพบเห็นสามารถแจ้งหรือร้องเรียนผ่านแอป Traffy Fondue ได้ทันที” รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ฝากประชาสัมพันธ์ตอนท้าย