เจาะร่างงบเพิ่มเติม กทม. อัด 6.8 พันล้าน อัพเกรดถนน-แก้น้ำท่วม

ปกเรื่อง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เจาะร่างงบประมาณเพิ่มเติมเกือบหมื่นล้าน กทม. จัดเต็มอัพเกรดถนน 3.5 พันล้าน ส่งงบ 3.3 พันล้านแก้ปัญหาน้ำท่วม

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นี้สภากรุงเทพมหานครเปิดการประชุมวิสามัยเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอให้มีการพิจารณา

โดยร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้เป็นการเสนอตั้งงบประมาณเป็นจำนวน 9,999,312,010 บาท ด้วยเหตุผลว่าเพื่อฟื้นฟูเมืองจากสถานการณ์โควิดและปัญหาน้ำท่วม โดยในระดับสำนักซึ่งดูแลภาพรวมในแต่ละด้านทั่วทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มี 20 สำนัก มีการขอเสนอของบประมาณเพิ่มเติม 8 สำนักวงเงินรวม 7,091,643,000 บาท  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สำนักการแพทย์

สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ขอจัดสรรงบประมาณ 308,605,900 บาท โดยแบ่งเป็น

  1. โรงพยาบาลกลาง วงเงิน 38,374,900 บาท
  2. โรงพยาบาลตากสิน วงเงิน 39,705,000 บาท
  3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ วงเงิน 22,390,000 บาท
  4. โรงพยาบาทหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโณ อุทิศ วงเงิน 33,710,000 บาท
  5. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ วงเงิน 31,620,000 บาท
  6. โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร วงเงิน 2,500,000 บาท
  7. โรงพยาบาลสิรินธร วงเงิน 140,306,000 บาท

สำนักอนามัย

สำนักอนามัยมีการขอจัดสรรงบประมาณ 1 รายการ คือ ผลผลิตบริหารศูนย์สาธารณสุข วงเงิน 20,210,00 บาท

สำนักการโยธา

สำนักการโยธาขอจัดสรรงบประมาณรวม 2,585,820,100 บาท แบ่งออกเป็น 3 ผลผลิต ได้แก่

  1. ผลผลิตพัฒนาโครงข่ายถนน ที่เป็นส่วนรายการค่าเวนคืนที่ดิน วงเงิน 1,621,793,900 บาท
  2. ผลผลิตบำรุงรักษาโครงข่ายถนน วงเงิน 957,176,200 บาท
  3. ผลผลิตสนับสนุนเครื่องจักรกลและการก่อสร้าง วงเงิน 6,850,000 บาท

สำนักการระบายน้ำ

สำนักการระบายน้ำขอจัสรรงบประมาณรวม 3,900,966,600 บาท แบ่งออกเป็น 7 รายการตามผลผลิต ได้แก่

  1. จัดการระบบท่อระบายน้ำ 436,372,600 บาท
  2. ระบบควบคุมน้ำ 391,868,000 บาท
  3. จัดการระบบคลองและแหล่งรับน้ำ 1,576,657,000 บาท
  4. สนับสนุนและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล 160,200,000
  5. พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม 1,014,440,000 บาท
  6. จัดการคุณภาพน้ำ 301,229,000 บาท
  7. โครงการปรับระดับหมุดหลักฐานแนวดิ่ง 20,200,000 บาท

สำนักการจราจรและขนส่ง

สำนักการจราจรและขนส่งมีการขอจัดสรรงบประมาณรวม 33,799,000 บาท จำนวน 4 รายการอันได้แก่

  1. การจัดการศาลาที่พักผู้โดยสาร รถโดยสาร ท่าเทียบเรือสาธารณะ วงเงิน 4,899,000 บาท
  2. ก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 4 ท่า วงเงิน 12,880,000 บาท
  3. ก่อสร้างท่าเรือวัดป่าเชิงเลน คลองชักพระ 3,190,000 บาท
  4. การจัดหาและติดตั้งแผ่นกันเสียงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า 12,830,000 บาท

สำนักสิ่งแวดล้อม

สำนักสิ่งแวดล้อมขอจัดสรรงบประมาณ 1 รายการ คือ การบริการสวนสาธารณะและอนุรักษ์พันธ์พืช วงเงิน 44,700,000 บาท

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีการขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 2 รายการ วงเงินรวม 136,102,000 บาท แบ่งเป็น

  1. การส่งเริมกีฬาเพื่อการแข่งขัน วงเงิน 3,500,000 บาท
  2. การพัฒนาศูนย์กีฬา ศูนย์เยาวชนและลานกีฬา วงเงิน 132,602,000 บาท

เจาะงบสำนักงานเขต

ด้านสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการขอจัดสรรงบประมาณทั้ง 50 เขตพื้นที่ ในวงเงินรวม 2,907,669,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น 5 งานพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

  1. งานบำรุงรักษาซ่อมแซม วงเงินรวม 2,576,462,730 บาท
  2. งานงบประมาณโรงเรียน วงเงินรวม 114,150,500 บาท
  3. งานระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม วงเงินรวม 193,734,900 บาท
  4. งานพัฒนาและบริการสังคม วงเงินรวม 1,439,200 บาท
  5. งานดูแลสวนและพื้นที่สีเขียว วงเงินรวม 11,485,000 บาท
  6. งานอำนวยการและบริหารสำนักงานเขต วงเงินรวม 10,396,670 บาท

แม้ว่างานบำรุงรักษาซ่อมแซมในระดับสำนักงานเขตจะมีวงเงินมากที่สุด คือสูงถึง 88% แต่หากเจาะเข้าไปอีกชั้นหนึ่งจะเห็นว่าในรายการนี้จะเป็นการซ่อมแซมและอัพเกรดถนน-ทางเท้า และรวมถึงอัพเกรดท่อระบายน้ำคู่กันไปด้วย

ทุ่ม 6.8 พันล้านอัพเกรดถนนแก้น้ำท่วม

เมื่อจำแนกการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ออกมา จะเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วน คือ การอัพเกรดถนน-ทางเท้า-ท่อระบายน้ำ ในวงเงินรวมทั้งสำนักการโยธาและระดับสำนักงานเขตที่ 3,533,638,930 บาท และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งสำนักระบายน้ำและสำนักงานเขตรวม 3,381,404,500 บาท

Top10 เขตได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า 10 ลำดับสำนักงานเขตที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามร่างงบประมาณกรุงเทพมหานคร ฉบับเพิ่มเติม พ.ศ.2566 ดังนี้

  1. สำนักงานเขตมีนบุรี วงเงินงบประมาณ 350,950,000 บาท
  2. สำนักงานเขตบางขุนเทียน วงเงินงบประมาณ 289,703,200 บาท
  3. สำนักงานเขตบางบอน วงเงินงบประมาณ 263,461,000 บาท
  4. สำนักงานเขตทุ่งครุ วงเงินงบประมาณ 230,560,000 บาท
  5. สำนักงานเขตบางเขน วงเงินงบประมาณ 228,281,000 บาท
  6. สำนักงานเขตคลองสามวา วงเงินงบประมาณ 172,333,000 บาท
  7. สำนักงานเขตลาดกระบัง วงเงินงบประมาณ 162,174,000 บาท
  8. สำนักงานเขตหนองจอก วงเงินงบประมาณ 140,778,000 บาท
  9. สำนักงานเขตวังทองหลาง วงเงินงบประมาณ 135,455,000 บาท
  10. สำนักงานเขตดอนเมือง วงเงินงบประมาณ 100,868,000 บาท