“ชัชชาติ” รื้อแผนจัดการขยะ กทม. เปิดเช่ารถขยะ EV 4,000 ล้าน

กทม. ขยะ

เปิดแผนกำจัดขยะ 3 ล้านตันของ กทม. ด้วยการลดวิธีฝังกลบ แต่หันไปเพิ่มวิธีกำจัดด้วยเตาเผาใน 2 โรงขยะมูลฝอย “หนองแขม-อ่อนนุช” พร้อมเดินหน้าโรงเตาเผาขยะแห่งใหม่ที่เขตสายไหม ตามมาด้วยการทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านบาท เปิดประมูลเช่ารถเก็บขยะลอตใหญ่ 692 คัน และยังมีโครงการใหม่ เช่ารถสามล้อไฟฟ้าขนาดเล็ก 50 คัน วิ่งเก็บขยะชุมชนตามซอกซอย

นายจักกพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง ปัญหาขยะมูลฝอยได้กลายเป็น 1 ในปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯว่า ต้องใช้งบประมาณในการจัดเก็บขยะมากกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี จากปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ 8,000-10,000 ตัน/วัน หรือระหว่าง 3-3.90 ล้านตัน/ปี จากสถิติ 5 ปีย้อนหลัง โดยปีล่าสุด (2565) กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ 8,979 ตัน รวม 3.27 ล้านตัน/ปี

โดยขยะที่มากกว่า 3 ล้านตันจำนวนนี้ ปัจจุบัน กทม.กำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบคิดเป็นร้อยละ 68 การนำขยะไปทำปุ๋ยหมักร้อยละ 18 ใช้เทคโนโลยีผสมผสาน (RDF) ในการกำจัดขยะร้อยละ 9 และใช้เตาเผาขยะร้อยละ 5

แต่ภายในปี 2567 กทม.มีแผนที่ปรับสัดส่วนการกำจัดขยะด้วยการลดวิธีฝังกลบลง ส่งผลให้สัดส่วนวิธีกำจัดขยะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะใช้วิธีฝังกลบคิดเป็นร้อยละ 29 การทำปุ๋ยหมักร้อยละ 35 ใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน (RDF) ร้อยละ 11 และใช้เตาเผาขยะร้อยละ 25 หรือเพิ่มสัดส่วนการกำจัดขยะด้วย“การใช้วิธีฝังกลบอาจจะมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับการกำจัดวิธีอื่น

แต่ในอนาคตวิธีจัดการแบบนี้จะไม่ยั่งยืน ทั้งเรื่องการขนส่งที่ใช้พลังงานเยอะ มลพิษที่เกิดจากการขนส่ง และมลพิษที่ตัวหลุมฝังกลบขยะเอง ดังนั้นกรุงเทพมหานครจะต้องมีการปรับรูปแบบของการกำจัดขยะให้มีความยั่งยืนขึ้น แต่ต้องเป็นโครงการที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งด้านงบประมาณและผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม” นายจักกพันธ์กล่าว

3 โรงกำจัดขยะ กทม.

โรงกำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.ในปัจจุบันมี 3 แห่ง ใช้วิธีการกำจัดขยะแบบผสมผสาน ได้แก่ โรงกำจัดมูลฝอยหนองแขม หรือโรงขยะหนองแขม มีโครงการที่เปิดใช้งานอยู่ 2 โครงการ คือ 1) เตาเผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า มีปริมาณขยะขั้นต่ำที่จะจัดส่ง 300 ตัน/วัน เป็นโครงการที่ผูกพันงบประมาณ 2,140,300,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2555-2579 ปัจจุบันมีปริมาณขยะที่ส่งให้เฉลี่ย 500 ตัน/วัน 2) โครงการฝังกลบขยะเฉลี่ย 3,000 ตัน/วัน มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ปี 2561-2567 วงเงินงบประมาณ 3,035,340,000 บาท โดยโครงการนี้จะหมดสัญญาในวันที่ 21 เมษายน 2567

และมีโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการกำจัดมูลฝอยระบบใหม่ โดยเป็นการกำจัดมูลฝอยในพื้นที่ของเอกชนปริมาณ 1,000 ตัน/วัน ผูกพันงบประมาณ 4,734,700,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2561-2585 โดยที่กรุงเทพมหานครจะต้องจัดส่งขยะเป็นระยะเวลา 20 ปี คือปี 2566-2585 กับโครงการเตาเผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าขนาด 1,000 ตัน/วัน ผูกพันงบประมาณ 5,687,439,670บาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 2561-2586 โดย กทม.จะต้องจัดส่งขยะเป็นระยะเวลา 20 ปี (2567-2586) และหลังจากหมดสัญญาแล้ว “เตาเผาขยะ” จะตกเป็นทรัพย์สินของ กทม.

“ปริมาณขยะที่เหลือตกค้างจากสัญญาฝังกลบอยู่อีกประมาณ 1,000 ตัน/วัน ตอนนี้ กทม.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาวิธีกำจัดขยะที่เหมาะสม จัดเป็นโครงการที่รอการลงทุนใหม่ในสมัยของผู้ว่าฯชัชชาติ”

โรงขยะอ่อนนุช ปัจจุบันมีการเปิดโครงการกำจัดขยะอยู่ทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โรงงานกำจัดขยะเชิงกลชีวภาพ (MBT) สามารถกำจัดขยะได้ 800 ตัน/วัน ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2556-2585 ผูกพันงบประมาณ 3,504,000,000 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เคยเปิดให้บริการมาแล้วเมื่อปี 2563 ก่อนทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะสั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุง,

โครงการจ้างเอกชนเดินเครื่องจักรกำจัดขยะ 600 ตัน/วัน ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2557-2570 จะหมดสัญญาในวันที่ 23 ธันวาคม 2569 ผูกพันงบประมาณ 1,493,580,000 บาท, โครงการจ้างเอกชนเดินเครื่องจักรกำจัดขยะ 1,000 ตัน/วัน ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2559-2569 จะหมดสัญญาในวันที่ 30 มิถุนายน 2570 ผูกพันงบประมาณ 2,008,960,000 บาท และ โครงการจ้างเอกชนกำจัดขยะโดยวิธีฝังกลบขนาด 1,000 ตัน/วัน ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2563-2567 จะหมดสัญญาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ผูกพันงบประมาณ 1,045,360,000 บาท

ส่วนโครงการกำจัดขยะที่อยู่ระหว่างก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างการจัดจ้างที่โรงขยะอ่อนนุช จะมี 3 โครงการด้วยกันคือ โครงการเตาเผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าขนาด 1,000 ตัน/วัน ผูกพันงบประมาณ 5,789,639,670 บาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 2561-2586 โดยที่ กทม.จะต้องจัดส่งขยะเป็นระยะเวลา 20 ปี (ปี 2567-2586)

และหลังจากหมดสัญญาแล้ว “เตาเผาขยะ” จะตกเป็นทรัพย์สินของ กทม., โครงการกำจัดมูลฝอยโดยวิธีหมักก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 300 ตัน/วัน ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2562-2585 วงเงินงบประมาณผูกพัน 1,423,500,000 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอ “ใบอนุญาต” จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเปิดใช้

และโครงการจ้างเอกชนกำจัดขยะโดยวิธีฝังกลบขนาด 1,000 ตัน/วันระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2566-2570 ผูกพันงบประมาณ 1,045,360,000 บาท โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการจัดจ้างในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้มีผู้รับจ้างสามารถรองรับปริมาณขยะจากการฝังกลบในระยะที่ 1 ได้ในทันที นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาเพื่อหาแนวทางเหมาะสมสำหรับการกำจัดขยะประมาณ 1,000 ตัน/วัน ในปี 2570 ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมด้วย

โรงขยะสายไหม ปัจจุบันมีการกำจัดขยะอยู่ 2,000 ตัน/วัน แบ่งเป็น 2 โครงการ คือ การกำจัดมูลฝอยระบบใหม่ โดยเป็นการกำจัดมูลฝอยในพื้นที่ของเอกชนปริมาณ 1,000 ตัน/วัน ผูกพันงบประมาณ 4,741,350,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2561-2585 จะนำขยะไปกำจัดที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยการแยกขยะไปรีไซเคิล เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงปูนซีเมนต์ (RDF)

ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% จะนำไปฝังกลบ กับโครงการจ้างเอกชนนำขยะมูลฝอยไปฝังกลบปริมาณ 1,000 ตัน/วัน ผูกพันงบประมาณ 1,042,440,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2563-2568 ซึ่งจะหมดสัญญาจ้างในวันที่ 10 กันยายน 2568

ส่วนโครงการในอนาคตของโรงขยะสายไหมก็คือ โครงการเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,000 ตัน/วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณในงบประมาณปี 2567

จัดเก็บขยะ

เช่ารถขยะใหม่ 4,040 ล้านบาท

ด้านการเก็บขนขยะนั้น นายจักกพันธ์กล่าวว่า ในปี 2566 กทม.จะมีการจัด “เช่า” รถเก็บขนขยะทดแทนรถเก็บขนขยะเดิม โดยปีงบประมาณ 2566 ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 4,040,582,028 บาท เพื่อเช่ารถจัดเก็บขยะมูลฝอย 692 คัน ระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็นรถเก็บขนขยะมูลฝอย 5 ตัน จำนวน 464 คัน วงเงิน 2,372,596,800 บาท, รถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 2 ตัน 152 คัน วงเงิน 658,436,184 บาท, รถแบบยกภาชนะ ขนาด 8 ลบ.ม. จำนวน 124 คัน วงเงิน 575,885,016 บาท และรถแบบยกภาชนะ ขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน วงเงิน 387,989,028 บาท

พร้อมกับมอบนโยบายให้สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดกว้างในการกำหนดข้อกำหนดในการเช่าประเภทรถเก็บขยะ ทั้งรถ EV น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และ กทม.ยังมีโครงการใหม่คือ การเช่ารถจัดเก็บมูลฝอยขนาดเล็กที่เป็นสามล้อไฟฟ้า จำนวน 50 คัน วงเงิน 45,675,000 บาท เพื่อทดแทนเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้แรงคนในการลากขยะจากจุดพักขยะมายังจุดที่รถจัดเก็บขยะสามารถเข้าถึงได้ด้วย

แคมเปญ “ไม่เทรวมขยะ”

ด้านแคมเปญ “ไม่เทรวมขยะ” ของ กทม.ด้วยการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นแรก การแยกขยะเปียกออกจากขยะอื่น ๆ ชั้นที่ 2 ส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดขยะมีการแยกขยะและทางต้นทางสถานที่แยกขยะสามารถนำขยะที่แยกนั้นนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที หรือส่งให้สำนักงานเขตรวบรวมเพื่อทำประโยชน์ต่อไป และชั้นที่ 3 สนับสนุนให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่ กทม. เป็นจุดรับขยะรีไซเคิลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

ที่ผ่านมาปรากฏผลการดำเนินการในชั้นแรก การให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางใน 3 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตพญาไท, เขตปทุมวัน และเขตหนองแขม ในช่วงแรกระหว่างวันที่ 5 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 สามารถแยกขยะที่เป็นขยะเปียกหรือเศษอาหารออกจากขยะอื่นได้ 59 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10% ของขยะทั้งหมด

ในระยะที่ 2 มีการขยายผลในเชิงพื้นที่โดยให้ประชาชนแสดงความประสงค์ในการแยกขยะต้นทาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตลงพื้นที่ไปเพื่อจัดขนขยะแยกตั้งแต่ต้นทาง โดยผลการดำเนินการนั้น กทม. สามารถแยกขยะประเภทขยะเปียกหรือเศษอาหารออกจากขยะอื่นได้ 33.34 ตัน/วัน

ในชั้นที่ 2 ให้แหล่งกำเนิดมูลฝอยแยกขยะและจัดการขยะด้วยตัวเองนั้นปรากฏว่ามีแหล่งกำเนิดขยะเข้าร่วมจำนวน 400 แห่ง สามารถนำขยะมาใช้ประโยชน์ต่อได้ 13 ตัน/วัน โดยแหล่งกำเนิดขยะที่เข้าร่วมนั้นได้แก่ ประเภทวัดจำนวน 114 แห่ง, ร้านอาหาร 98 แห่ง, ครัวเรือน 77 แห่ง, สำนักงาน 37 แห่ง, ตลาด 34 แห่ง, ห้างสรรพสินค้า 27 แห่ง และ โรงแรม 13 แห่ง ส่วนชั้นสุดท้ายได้มีการดำเนินการแล้วในสำนักงานของกรุงเทพมหานคร จำนวน 52 แห่ง ได้แก่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต

“ปัจจุบันจะมีการแยกขยะได้แล้วกว่า 46 ตัน/วัน แต่ก็ยังมีขยะเปียกและเศษอาหารอีกกว่า 50% ที่ยังปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่น ซึ่งยังต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น โดย กทม.อาจจะต้องออกข้อบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ก่อขยะเป็นผู้มีบทบาทในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางด้วย” นายจักกพันธ์กล่าว