เช็กวิธีรับมือฝุ่นพิษ PM 2.5 กลับมาพุ่งเกินค่ามาตรฐาน

ฝุ่น PM 2.5
ภาพจากเพจ กรุงเทพมหานคร

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเกินค่ามาตรฐานในทุกช่วงปลายฤดูหนาว ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ขนส่ง และเกษตรกรรม โดยไม่มีท่าทีว่าจะหาทางออกได้

วันที่ 3 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภายหลังจากเข้าสู่ปลายฤดูหนาวที่ประชาชนชาวไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต้องเผชิญในทุกรอบปี สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบกับการดำเนินชีวิตให้กับหลายคนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพและต้นทุนการดำเนินชีวิตหรือค่าครองชีพที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น จากการซื้อหน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูงหรือหน้ากากแบบ N95 เพราะหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาจะไม่สามารถป้องกันและกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ดีเท่าที่ควร

คุณภาพอากาศวันนี้หลายพื้นที่เริ่มมีผลกระทบ

ล่าสุด ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 3 มีนาคม 2566 ณ 07.00 น. สรุปดังนี้

  • ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 56-178 มคก./ลบ.ม.
  • กรุงเทพฯและปริมณฑล เกินค่ามาตรฐาน 19 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32-74 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 34-79 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 26-64 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 37-51 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10-26 มคก./ลบ.ม.

โดยดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

ความหมายของสี ที่มา : Air4Thai
ที่มา : Air4Thai

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาประชาชนต้องรับมืออย่างไร ?

สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ดังนั้น “ประชาชาติ” จึงได้รวบรวมวิธีดูแลและป้องกันตัวเองจากอันตรายในช่วงที่ภาวะฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูง เพื่อให้ท่านได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  1. ใส่หน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐาน
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่มลพิษอากาศสูง
  3. งดการออกกำลังกายกายนอกตัวอาคาร เช่น งดวิ่งในสวนสาธารณะชั่วคราว ให้เปลี่ยนมา
  4. ออกกำลังกายภายในตัวอาคารแทน
  5. หมั่นตรวจตราไม่เปิดหน้าต่างในช่วงภาวะ PM 2.5 สูง เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 จากภายนอกเข้ามาในตัวอาคาร
  6. ช่วยกันงดการเผาไหม้ที่ “ไม่” สมบูรณ์ เช่น งดจุดเทียนในตัวอาคาร และนอกตัวอาคารงดการเผาในที่โล่ง งดใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ
  7. กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ กลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก

ฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจะอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ต้องตระหนักเอาไว้ว่า “ฝุ่น PM 2.5” คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และขนจมูกไม่สามารถกรองฝุ่นพิษนี้ได้ การสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอด กระแสเลือด แทรกซึมกระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้โดยง่าย

หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK ได้อย่างใกล้ชิด