รฟม.แจง 3 ปมร้อน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันทำตามกฎหมาย 100%

รถไฟฟ้าสายสีส้ม
แฟ้มภาพ

รฟม.สาง 3 ประเด็นร้อนรถไฟฟ้าสายสีส้ม เคลียร์ส่วนต่างผลตอบแทน 6.8 หมื่นล้าน-คดีพิพาท 5 คดี-ปมรีบประมูลครั้งใหม่

วันที่ 3 มีนาคม 2566 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อสงสัยและการพาดพิงการดำนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ชี้แจงใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ประเด็นส่วนต่าง 68,613 ล้านบาท ของข้อเสนอของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC นั้น แม้จะมีมูลค่าการให้ผลตอบแทนสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนจะต้องมีการประเมินข้อเสนออื่น ๆ ด้วยคือ ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเงิน อีกทั้งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขข้อเสนอในการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อปี 2563 จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการข้อเสนอการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มในปัจจุบันได้

ประเด็นที่ 2 ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก มีคดีพิพาท 3 คดี และกรณีพิพาทในการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่

กรณีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งแรกมีคดีพิพาท 3 คดี

    1. คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการแก้ RFP ไม่ชอบ และละเมิด BTSC (หมายเลขคดีแดงที่ อ.168/2566) โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เพราะ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ RFP โดยชอบแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อ BTSC
    2. คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ (หมายเลขคดีดำที่ อ.1455/2565) ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด
    3. คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต (หมายเลขแดงที่ อท.133/2565) ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของ BTSC

กรณีพิพาทในการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่

    1. คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC (หมายเลขดำที่ 1646/2565) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่าประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะ เป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง
    2. คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ ในคดีนี้ศาลปกครองกลางไม่ประทับรับฟ้อง และให้จำหน่ายคดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางไปยังศาลปกครองสูงสุด

ประเด็นที่ 3 การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ เป็นไปตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 การเปิดการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นโครงการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูง และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์โครงการ

รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ที่จะแล้วเสร็จในอนาคต รฟม. จึงเห็นสมควรเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

และทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน