ประกาศใช้แล้ว พ.ร.ก. ฟันมิจฉาชีพหลอกลวงทางมือถือ-ออนไลน์ โทษหนัก

ประกาศราชกิจจานุเบกษา-ราชกิจจาฯ ประกาศ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 เพื่อควบคุมและคุ้มครองประชาชนจากการถูกหลอกลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งออนไลน์ และทางมือถือ ที่ปัจจุบันพบความเสียหายสูง ระบุชัดสถาบันการเงินหากพบธุรกรรมต้องสงสัย ทั้งธนาคารที่โอนและรับโอน ต้องระงับธุรกรรมภายใน 7 วัน และให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง มีโทษปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท จำคุก 2-5 ปี มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มีนาคม 2566 นี้

วันที่ 16 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีใจความว่า

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผล และความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

ชูกลไกสำคัญอายัดบัญชี-ธุรกรรมต้องสงสัย

ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป)

สำหรับพระราชกำหนดฉบับนี้มีทั้งหมด 14 มาตรา มีกลไกหลักสำคัญในการอายัดบัญชีและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการธุรกิจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ประกอบการธุรกิจมือถือ ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน กรณีพบเหตุอันควรสงสัยว่ามี หรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

การแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นข้อมูลจากสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการที่เก็บข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือธุรกรรม รวมถึงผู้ประกอบการโทรศัพท์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามี หรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่น่าสงสัยนั้น ผ่านระบบกลางหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่วมกัน

การตรวจสอบข้อมูล กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดส่งข้อมูลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

สั่งสถาบันการเงินระงับธุรกรรมเมื่อพบเหตุสงสัยเองได้

นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญ อาทิ 1.กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลจากระบบ ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

ให้สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินในหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทราบ โดยระงับธุรกรรมนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง

2.กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการทำธุรกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง

โทษหนัก ปรับ 2-5 แสน จำคุก 2-5 ปี

ส่วนบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 9 ระบุว่า ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท (สามแสนบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000บาท (สองแสนถึงห้าแสนบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000บาท (สองแสนถึงห้าแสนบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

ก่อนหน้านี้นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ข้อมูลในปี 2565 พบว่ามีการหลอกลวงประชาชนให้เปิดบัญชีม้า โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อายัดบัญชีม้าจำนวนทั้งสิ้น 58,463 บัญชี

ขณะที่ข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าประชาชนถูกแอปพลิเคชั่นกู้เงินเถื่อนหลอก คิดเป็น 23.3% จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 2,090 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังมีมิจฉาชีพหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงิน ติดตั้งแอปพลิเคชั่น หรือคลิกลิงก์ที่มากับ SMS เพื่อดูดเงินในบัญชี ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาล ในขณะที่การตรวจสอบค่อนข้างต้องใช้เวลานานและยากที่จะได้เงินคืน

ดังนั้น นอกจากประชาชนจะต้องระมัดระวังตนเอง รู้เท่าทัน ไม่คลิกลิงก์แปลกปลอมต่าง ๆ ที่ได้รับ ธนาคารพาณิชย์เอง ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางการเงินของลูกค้า จำเป็นต้องมีกลไกป้องกันการรั่วไหลของเงิน หรือโอนเงินแบบไม่พึงประสงค์ อาทิ การนำเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) มาใช้ร่วมกับ Password รหัส OTP ฯลฯ

รวมถึงยกระดับและปรับปรุงระบบบริการทางการเงิน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ของลูกค้า หรือประชาชน

พ.ร.ก.ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

ดูประกาศฉบับเต็มที่นี่