กรมวิทย์เผยโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวน 4 ราย จากเดิม 22 ราย รวมทั้งยังมีสายพันธุ์ XBB.1.9.1 ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 15% ซึ่งเป็น 2 สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง
วันที่ 18 เมษายน 2566 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทั่วโลก ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 12 ระหว่างวันที่ 20-26 มีนาคม 2566 สายพันธุ์ XBB.1.5 (VOI) มีรายงานการตรวจพบจาก 95 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุด คิดเป็น 47.9% และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับสายพันธุ์ XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* (VUM) ในปัจจุบันก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบสัดส่วน 17.6%, 7.6% และ 4.0% ตามลำดับ ในขณะที่ VUM อื่น ๆ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงในการก่อโรคที่เพิ่มขึ้นของทั้ง VOI และ VUM
ซึ่งองค์การอนามัยโลก WHO ก็ได้มีการติดตามและประเมินวิวัฒนาการของเชื้อ SARS-CoV-2 นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 การอุบัติของสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ยกระดับความเสี่ยงต่อสาธารณสุขในระดับโลก ซึ่งก็ได้นำไปสู่การจัดประเภทสายพันธุ์โควิด
โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (Variant Under Monitoring หรือ VUM), สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest หรือ VOI) และสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern หรือ VOC) เพื่อให้มีการจัดลำดับความสำคัญในการติดตามและการวิจัยในระดับโลก และท้ายที่สุด เพื่อให้ข้อมูลในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยข้อมูลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า XBB.1.16 มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ XBB และ XBB.1.5 แต่คุณสมบัติด้านการหลบภูมิคุ้มกันยังคงเหมือนกัน
ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ทั่วโลก จากรายงานครั้งแรกจากประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกจัดให้สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (Variant Under Monitoring หรือ VUM) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 โดยสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากที่สุดในประเทศอินเดีย รองมาคือสหรัฐอเมริกา โดยพบการระบาดมากในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของปี 2566 (20-26 มี.ค. 66)
พร้อมกันนี้ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมจาก BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม ได้แก่ E180V, F486P และ K478R (กรณี delta จะเป็น T478K) ซึ่งการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง 478 บนโปรตีนหนามของเชื้อ SARS-CoV-2 เกี่ยวข้องกับการลดลงของ neutralizing antibody ความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการก่อโรค และมีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อ เมื่อเทียบกับ XBB.1 และ XBB.1.5
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ XBB.1.16 จะกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และอาจจะมาแทนที่ XBB.1.5 ในอนาคต โดยในส่วนของอาการไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งอาการของสายพันธุ์ XBB.1.16 จะมีลักษณะอาการทางคลินิกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ คันตา มีขี้ตา ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์ XBB.1.16
และยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า XBB.1.16 ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค ซึ่งในส่วนของเรื่องภูมิคุ้มกันสายพันธุ์ XBB.1.16 มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันเทียบได้กับ XBB.1 และ XBB.1.5
“ซึ่งหมายความว่า ใครที่เคยติดพันธุ์เก่า ๆ อย่าง BA.2.75, BN.1.2, BN.1.3 ก็จะสามารถเป็นซ้ำได้”
สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย พบว่าในสัปดาห์ที่ 8-14 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สายพันธุ์ XBB* (VUM) มีสัดส่วนลดลง แต่ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมากเป็นลำดับที่ 1 ในประเทศ และสายพันธุ์ XBB.1.5 (VOI) พบมากเป็นลำดับที่ 2 โดยพบสัดส่วน 27.5%
ในขณะที่สายพันธุ์ XBB.1.16* (VUM) พบเพิ่มจำนวน 4 ราย ซึ่งก่อนหน้าตรวจพบในตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 22 ราย รวมทั้งยังมีสายพันธุ์ XBB.1.9.1* (VUM) ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 15% ซึ่งเป็น 2 สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่ยังคงมีมากในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์ BA.2.75, BN.1.2 และ BN.1.3 มากพอสมควร
สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีน กรมวิทย์ชี้แจ้งว่าสามารถฉีดชนิดไหนก็ได้ แต่ถ้าวัคซีน ไบวาเลนท์ ก็อาจจะดีกว่าวัคซีนตัวอื่น ๆ เล็กน้อย ซึ่งวัคซีนยังคงจำเป็นต่อการป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่จะสามารถช่วยลดความรุนแรงลงได้
อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีแผนที่จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยจะประสานกับโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งให้ส่งตัวอย่างผู้ติดเชื้อในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไปเพิ่มการตรวจให้มากขึ้น ขั้นต่ำคือ 5 ตัวอย่าง ต่อ 1 โรงพยาบาล
“ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ เราจะได้ตัวอย่างเข้ามาที่ส่วนกลางประมาณ 700 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ก็เพียงพอที่จะตรวจหาสายพันธุ์
รวมทั้งมีแผนที่จะให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ปีละ 1 เข็ม พร้อม ๆ กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถ้าฉีดเข็มสุดท้ายนานมาแล้ว 3 เดือน หรือว่าติดเชื้อเกินมาแล้ว 3 เดือน แนะให้ฉีดวัคซีนเพิ่มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน อีกทั้งมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (หน้ากากอนามัย ล้างมือ วัคซีน) จะช่วยลดการแพร่เชื้อ และรับเชื้อโดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง” นายแพทย์ศุภกิจกล่าว