สธ.เผย โควิด XBB 1.16 พบเพิ่มทั่วโลก ชี้อาจเป็นสายพันธุ์หลัก

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

กระทรวงสาธารณสุข เผยสายพันธุ์ XBB 1.16 พบเพิ่มขึ้นทั่วโลก เชื่ออาจเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป ย้ำยังไม่พบว่ารุนแรง-หลบหลีกภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น ๆ

วันที่ 17 เมษายน 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้โควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น

ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกันทั่วโลก โดยพบว่าในประเทศอินเดีย มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มแทนที่สายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น ๆ และยังไม่พบว่ามีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบในช่วงเวลานี้

สำหรับสถานการณ์ในไทยหลังสงกรานต์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์วันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว

พร้อมแนะนำหลังเทศกาลสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับประชาชน 3 มาตรการ คือ

1.ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

2.สวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมหรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 607 จำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย

3.ให้ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์

สำหรับกลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อนที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค

สำหรับสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เน้น 4 มาตรการคือ

1.เร่งสื่อสารประชาชน และเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี พร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

2.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ และเตียง รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการป่วยรุนแรงให้เพียงพอ

3.ทุกจังหวัดเร่งรัดติดตามเฝ้าระวังและรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกราย ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ส่งตรวจ RT-PCR และตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมง

4.ทุกจังหวัดให้เตรียมทีมออกสอบสวนโรค กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตทุกราย เพื่อหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค รวมทั้งการระบาดของโรคที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในโรงพยาบาล โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการและด้อยโอกาส ค่ายทหาร เรือนจำ กลุ่มนักท่องเที่ยว ตามเกณฑ์ที่กำหนด