ปัญหา “ค่าไฟแพง” โดยเฉพาะบิลค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2566 ที่พุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ประชาชนอาจจะต้องหันมาหาตัวช่วย ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า และก่อนที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ เราต้องเตรียมตัวอย่างไร
วันที่ 19 เมษายน 2566 จากกระแสที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็น กับค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน 2566 ที่แพงผิดปกติ โดยเป็นผลมาจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่หนักขึ้น ประกอบกับอากาศร้อนในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี ที่ประชาชนจะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อช่วยคลายร้อน
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้ประชาชนต้องเริ่มหา “ตัวช่วย” เพื่อลดค่าไฟฟ้า-ลดค่าใช้จ่ายลง การติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” หรือที่เราเรียกว่า โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
แต่ก่อนที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือโซลาร์รูฟท็อป เราต้องหาความรู้ เตรียมตัว หรือดำเนินการอะไรบ้าง
โซลาร์เซลล์ หรือ Solar Rooftop คืออะไร
โซลาร์เซลล์ คือ ระบบการสร้างพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์ แล้วนำไปใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนในระบบเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายในอาคาร ที่อยู่อาศัย อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม ทดแทนการใช้แทนพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้า
โดยระบบในการสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Rooftop จะเปลี่ยนไฟฟ้าจากกระแสตรง (Direct Current : DC) เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternate Current : AC) โดยจะเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งพลังงานที่ได้นั้นจะนำไปขายหรือใช้แทนไฟฟ้าก็ได้
โซลาร์เซลล์ มีกี่ประเภท
1.โซลาร์เซลล์ สำหรับขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง
ติดตั้ง โซลาร์เซลล์ เพื่อขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยต้องติดตั้งมิเตอร์แยกกับมิเตอร์ที่ใช้วัดค่าไฟฟ้าทั่วไป ราคาที่จะจำหน่ายค่าไฟฟ้าให้กับหน่วยงาน จะก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งจะมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร
2.โซลาร์เซลล์ สำหรับใช้เอง
โซลาร์เซลล์ ที่ติดตั้งจะนำมาช่วยขับเคลื่อนการทำงานของระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในอาคาร ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย
ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องขออนุญาต
การติดตั้ง โซลาร์เซลล์ ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ การไฟฟ้านครหลวง MEA โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ชำนาญการเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันเหตุอันตรายกับเจ้าหน้าที่ MEA ที่ปฏิบัติงาน และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ไฟฟ้า
อุปกรณ์ติดตั้งโซลาร์เซลล์
- อุปกรณ์สำคัญของการติดตั้งโซลาร์เซลล์
- แผงโซลาร์เซลล์-ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ปัจจุบันนิยมใช้อยู่ 3 ประเภทคือ โมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline) และโพลีคริสตัลไลน์ (Poly Crystaline) ทั้งสองประเภทต่างกันที่ประสิทธิภาพและราคา ส่วนแผงโมโนจะมีขนาดเล็กกว่า 10% จึงเหมาะกับสถานที่จำกัด ส่วนแบบ Amorphous Thinfilm ราคาถูกตามประสิทธิภาพ แต่มีข้อดีคือผลิตไฟฟ้าได้ในวันที่มีแสงแดดน้อย ๆ ฝนตกทั้งวัน
- Charge Controllers-ทำหน้าที่ควบคุมแรงดันและควบคุมกระแสไฟที่อาจไหลกลับเข้าสู่แบตเตอรี่ในเวลากลางคืน ป้องกันระบบรวนแบบ Over Charge
- Batteries-แบตเตอรี่ มีหลายชนิดทั้งแบบแห้ง แบบน้ำ แบบไม่ต้องดูแลรักษา เพราะมักใช้งานต่างกัน เช่น เครื่องปั๊มน้ำต้องมีแบบแบตเตอรี่กันน้ำ แบตเตอรี่ที่นิยมใช้คือ 12 โวลต์ และ 24 โวลต์ แต่ห้ามนำแบตเตอรี่รถยนต์มาใช้งานแทนเด็ดขาด เพราะแผ่นธาตุของแบตรถยนต์นั้นบาง ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อจ่ายกระแสพลังงานไฟฟ้านาน ๆ จึงควรใช้แบตเตอรี่สำหรับ ชุดโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะเป็นพิเศษแบบ Deep Cycles มีอายุการใช้งานนานกว่าสามเท่า หรือเลือกแบบ Renewable Energy มาก็ได้ โดยทั่วไปจำนวนแบตเตอรี่ที่ต้องใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ให้ปริมาณพอดีต้องใช้ได้นานอย่างน้อย 3 วัน แม้จะปราศจากไฟฟ้าจากสายส่ง
- Inverters-ตัวแปลงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ เช่น จากไฟ 12V ส่งไปเป็นพลังงานไฟฟ้าในบ้านเป็นแรงดัน 220V เพื่อใช้ต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ตู้เย็น ปั๊มน้ำ โทรทัศน์ เป็นต้น มี 2 ประเภทคือ Modified Sine Wave มีประสิทธิภาพต่ำ มีเสียงดังรบกวน ส่วน Pure Sine Wave มีประสิทธิภาพสูงใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกประเภท
- Meters-อุปกรณ์อ่านค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิต โดยแสดงเป็น Utility Kilowatt-hour Meter และ Meter แสดงผลต่าง ๆ เอาไว้ตรวจสอบระบบการทำงานที่ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า กำลังไฟฟ้า
- Disconnects-ระบบรักษาความปลอดภัยที่ไว้ป้องกันอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นกับระบบและผู้ใช้งานได้ เช่น ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร กระแสไฟฟ้าสูงเกิน ปัญหาระหว่างการส่งกระแสไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะทำงานตัดระบบส่งกระแสไฟฟ้าทันทีที่เกิดเหตุ
- Battery Disconnect-ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับแบตเตอรี่ ทำงานคล้ายกับระบบ Disconnect อุปกรณ์ ชุดโซลาร์เซลล์ ในส่วนระบบอื่น ๆ
- ข้อควรรู้ก่อนติดตั้ง
- ควรเลือกบริเวณติดตั้งที่แสงเข้าถึงได้ ไม่ถูกเงาบัง
- ควรเลี่ยงติดตั้งบนหลังคาที่ทำจากไม้หรือหลังคาที่ไม่มีคุณสมบัติรองรับได้
- ควรเลี่ยงติดตั้งบนหลังคาที่มีอายุการใช้งานนาน 10 ปี
- ควรเลือกแผงโซลาร์ที่มีการรับประกันคุณภาพนาน 10 ปี
- ควรเลือกโซลาร์อินเวอร์เตอร์ที่มีประกันคุณภาพนาน 5 ปี รวมทั้งมีตัวอินเวอร์เตอร์พร้อมเปลี่ยนให้ทันที
- ขั้นตอนการติดตั้ง
- จัดเตรียมอุปกรณ์และโครงสร้างสำหรับยึดแผงโซลาร์ โดยเลือกวัสดุที่ทำจากโลหะ กันสนิม รวมทั้งรับน้ำหนักและทานแรงลมได้
- ดูค่าแรงดันไฟฟ้าวงจรเปิดและค่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรของแผงโซลาร์ทุกแผงก่อนติดตั้งและยึดแผงโซลาร์บนโครงสร้าง
- ติดตั้งแผงโซลาร์ตามรายละเอียดในคู่มือ โดยนำหัวต่อต่อเข้ากับแผงโซลาร์
- ติดตั้งตู้รวมสายไฟกระแสตรง อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ตามคำแนะนำของผู้ผลิตและคู่มือ
- นำสายไฟของแผงโซลาร์มาไว้ที่ตู้รวมสายไฟกระแสตรงทีละวงจร จากนั้นจึงนำสายไฟไปเชื่อมกับแผงโซลาร์ เพื่อเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์
- นำสายไฟที่เชื่อมไว้ตรงตู้รวมสายไฟกระแสตรงมาเชื่อมต่อกับอินเวอร์เตอร์
- นำสายไฟที่เชื่อมต่ออินเวอร์เตอร์มาที่เบรกเกอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ จากนั้นไล่ปิดวงจรระบบทีละชุดจนครบทุกเบรกกอร์
- ตรวจสอบระบบและค่าต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคู่มือแนะนำ
ข้อดีและข้อเสีย ติดตั้งโซลาร์เซลล์
ข้อดี
- สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทุกขนาด ไม่ว่าจะใช้ภายในบ้าน การเกษตร หรือโรงงานอุตสาหกรรม
- เป็นพลังงานที่ไม่จำกัดสามารถผลิตไฟฟ้าใช้จากแผงโซลารฺเซลล์ได้ตลอดไป
- ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 30-70% แล้วแต่การออกแบบและการติดตั้ง
- เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทุกที่ ที่มีแสงแดด
- โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานที่ปลอดภัย ไม่มีมลพิษที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ข้อเสีย
- ไม่มีความแน่นอนในการผลิตไฟฟ้า ปริมาณการผลิตขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์ในแต่ละวัน
- ให้พลังงานไม่สูงมาก จำนวนการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับจำนวนแผงที่ติดตั้ง
- ต้องศึกษาและคำนวณให้ดีก่อนทำการติดตั้ง เพราะหากทำโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า
- ไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้ในตอนกลางคืน หากต้องการใช้ในตอนกลางคืนด้วยจะต้องมีอุปกรณ์แบตเตอร์รี่เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเก็บไฟ