241 ปี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เปิดประวัติ ความเชื่อ “เสา-ศาลหลักเมือง”

เสาหลักเมือง ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร กรุงรัตนโกสินทร์
ภาพจาก bangkokcitypillarshrine.com

21 เมษายน วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ กับเรื่องราวของ “ศาลหลักเมือง” และ “เสาหลักเมือง” ในแง่มุมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง และความเชื่อในการสร้าง

วันที่ 21 เมษายน 2566 ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 241 ปีที่แล้ว ชื่อของ “กรุงรัตนโกสินทร์” ได้ถือกำเนิดขึ้น ในฐานะราชธานีแห่งใหม่ของสยามประเทศ พร้อมทั้งมีการพระราชพิธียกเสาหลักเมืองสำหรับพระนครขึ้น เพื่อเป็นหลักชัยอันสำคัญของเมืองใหม่แห่งนี้

ขณะเดียวกัน เสาหลักเมือง นอกจากการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมานานแล้ว ยังมีตำนานเล่าขานบางอย่างที่ถูกบอกต่อ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนเรื่องราว รับวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไปพร้อมกัน

ก่อนจะเป็น “กรุงรัตนโกสินทร์”

ก่อนจะมี “กรุงรัตนโกสินทร์” เป็นราชธานีในปัจจุบันนี้นั้น ย้อนกลับไปในช่วงต้นราชวงศ์จักรี หลังการเข้าปราบดาภิเษกของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 หรือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงมีดำริว่าพระราชวังเดิมที่กรุงธนบุรีมีวัดขนาบทั้งสองด้าน ทำให้การขยายเมืองไม่สามารถทำให้กว้างขวางออกไปได้ ไม่เหมาะที่จะเป็นราชธานีสืบไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครแห่งใหม่คือ กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

หากจะให้อธิบายโดยง่าย การย้ายราชธานีจาก “ธนบุรี” สู่ “รัตนโกสินทร์” มีเหตุผลในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ราบลุ่ม สามารถขยายเมืองให้กว้างขวางออกไปได้เรื่อย ๆ ตรงบริเวณที่ตั้งพระนครพื้นที่เป็นแหลม โดยมีแม่น้ำเป็นกำแพงกั้นอยู่เกือบครึ่งเมือง ขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ เป็นท้องคุ้ง น้ำกัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุใด ๆ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำ

ADVERTISMENT

นอกจากการย้ายราชธานีมาอยู่ที่เกาะรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันแล้ว ยังมีการพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธนา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจากคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”

ก่อนที่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จะมีการเปลี่ยนนามบางส่วน จาก “…บวรรัตนโกสินทร์…” เป็น “…อมรรัตนโกสินทร์…” แบบที่เราได้ยินกันในปัจจุบัน

ADVERTISMENT

การสร้างศาล-เสาหลักเมือง

หลังจากมีการสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” เป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06.54 น. ซึ่งได้จารึกติดอยู่ที่เสาหลักเมืองว่า “วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 เวลาย่ำรุ่ง 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325”

การฝังเสาหลักเมือง จะมีพิธีตามพระตำราที่เรียกว่า “พระราชพิธีนครฐาน” โดยเสาหลักเมืองต้นแรก ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

เมื่อเวลาผ่านไป เสาหลักเมืองต้นเดิม มีสถาพที่ชำรุด ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตรวจดวงพระชาตาของพระองค์เอง พบว่า ดวงพระชาตาเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมือง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาหลักเมืองใหม่อีก 1 ต้น เคียงคู่เสาหลักเมืองต้นเดิม พร้อมกับบรรจุดวงชะตาเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการแก้เคล็ด ให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น

การจัดสร้างและบูรณะเสาหลักเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ได้มีการขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สัก ประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร

ขณะที่สถาปัตยกรรมของศาลหลักเมือง ตั้งแต่แรกเริ่มของการมีเสาหลักเมืองนั้น มีลักษณะเป็นศาลา ใช้สำหรับการกันแดดกันฝนเท่านั้น จนทำให้สภาพของเสาหลักเมืองทรุดโทรมอย่างมาก

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเสาหลักเมืองต้นเดิมขึ้นใหม่ แทนต้นที่ชำรุดนั้น ได้มีการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2395 พร้อมทั้งนำเสาหลักเมืองทั้ง 2 ต้น มาประดิษฐาน

ต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นทรงจตุมุข พร้อมทั้งขยายบริเวณศาลให้กว้างขวางออกไป

เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จสมบูรณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2513

เสาหลักเมือง-ศาลหลักเมือง กับความเชื่อ

ตลอด 241 ปี นับตั้งแต่มีกรุงรัตนโกสินทร์ และนับตั้งแต่การเสาหลักเมือง มีตำนานและความเชื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย

อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร นักโหราศาสตร์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสายไสยศาสตร์ และพุทธาคม เคยเล่าไว้ว่า ระหว่างการประกอบพิธียกเสาหลักเมือง มีงูตัวเล็ก ๆ 4 ตัวลงไปอยู่ในหลุม ขณะเลื่อนเสาลงหลุม ทั้งๆ ที่ก่อนเริ่มพิธีมิได้มีผู้ใดพบเห็น ทำให้สายเกินจะแก้ได้ งูทั้งสี่จึงถูกฝังไปพร้อมกันในคราวนั้นเอง

เหตุดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเรียกประชุมเหล่าราชบัณฑิตโหราจารย์ พระราชาคณะและผู้รู้ทั้งปวงซึ่งที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นอวมงคลนิมิต แต่มิอาจบอกได้ว่าจะปรากฏผลออกมาอย่างใด นอกจากจะลงความเห็นว่า งูเล็กทั้งสี่จะเป็นมูลเหตุนำความเสื่อมมาสู่

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีสะเดาะห์เคราะห์ ประกอบกับเวลานั้นบังเกิดมีศึกใหญ่กับพม่าที่เรียกว่าสงคราม 9 ทัพ อีก 7 ปี ต่อมาเมื่อเกิดฟ้าผ่าไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า สิ้นพระเคราะห์เมืองแล้ว และจะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง 150 ปี คือถึงปี พ.ศ. 2475

อย่างไรก็ดี ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 และช่วงที่มีการบูรณะหลักเมืองทั้ง 2 ใหม่ ก็ไม่มีการปรากฎข่าวการพบซากกระดูกงู หรือซากอื่นใดในหลุมที่มีการฝังหลักเมือง

นอกจากตำนานระหว่างพิธีการยกเสาหลักเมืองแล้ว อีกตำนานหนึ่งที่มีการกล่าวขาน คือ การฝังอาถรรพ์ที่ประตูเมืองด้วยคนเป็น ๆ หรือที่เรียกว่า “อิน จัน มั่น คง” หรือแม้แต่การฝังคนสี่หูสี่ตา (คนมีครรภ์) ลงไปในหลุมหลักเมือง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตำนานที่มีการเล่าขานทั้งหมดนี้ ไม่มีหลักฐานที่ปรากฎแน่ชัดว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ?

แต่ตลอดเวลา 241 ปีที่ผ่านมา ของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี จนมาถึง “กรุงเทพมหานคร” ในปัจจุบัน ยังคงความสวยงาม และ “เสาหลักเมือง-ศาลหลักเมือง” ก็ยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ชาวกรุงเทพฯ คนไทย มาจนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม, สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง, museumthailand.com, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, National Geographic ฉบับภาษาไทย, สำนักพิพิธภัณฑสถานเเห่งชาติ, สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ฤๅ (luehistory.com)