รู้จักพิษของ “ไซยาไนด์” สารเคมีอันตราย ฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว

ไซยาไนด์ (Cyanide)

“อาจารย์อ๊อด” เผยโทษของสารเคมี “ไซยาไนด์” สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ร่างกายได้หลายเส้นทาง ใครโดนเข้าไปเหมือนขาดอากาศหายใจ ระบุไซยาไนด์ที่หาง่ายมากคือ “ยาเบื่อหนู” ขณะที่ ผบ.ตร.มอบหมาย “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เข้ามาดูแลคดี

จากข่าวใหญ่กรณี นางทองพิน เกียรติชนะสิริ อายุ 63 ปี น.ส.นิภาวรรณ ขันวงษ์ อายุ 35 ปี มารดาและพี่สาวของ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือก้อย อายุ 32 ปี เท้าแชร์ ชาว จ.กาญจนบุรี ที่เป็นลมวูบเสียชีวิตเป็นปริศนาขณะเดินทางไปทำบุญปล่อยปลากับเพื่อนสนิท ที่ริมท่าน้ำแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เข้าร้องทุกข์ตำรวจกองปราบฯ ช่วยตรวจสอบความผิดปกติเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต

พร้อมเชื่อว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรม โดยมีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ “แอม” ภรรยาของนายตำรวจระดับรอง ผกก.ในพื้นที่ จ.ราชบุรี น่าจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายดังกล่าว รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตหลายราย ตามที่สื่อมวลชนหลายแห่งมีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าผู้ต้องหาเป็นคนเดียวกัน และน่าจะเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยใช้สารพิษ “ไซยาไนด์” ร่วมด้วย ส่วนมูลเหตุจูงใจนั้น หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิจารณาเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำ เพื่อสืบสวนหาความจริงต่อไป

ล่าสุด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เข้ามาดูแลรับผิดชอบและสั่งการในคดีนี้แล้ว

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ให้ความรู้ พร้อมระบุถึงโทษและพิษภัยของสารไซยาไนด์ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ไซยาไนด์ (Cyanide salts) มีหลายชนิด ที่พบบ่อย เช่น โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide) โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide) หรือพบในรูปเกลือชนิดอื่น ๆ เช่น แคลเซียมไซยาไนด์ (Calcium cyanide) ไอโอดีนไซยาไนด์ (Iodine cyanide) เป็นต้น

ไซยาไนด์สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากหลายเส้นทาง ทั้งการสูดก๊าซไซยาไนด์เข้าไป การกินไซยาไนด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสารไซยาไนด์ หากกินไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่างจะใช้เวลาออกฤทธิ์เป็นหน่วยนาที แต่ถ้ามีอาหารอยู่เต็มกระเพาะแล้ว จะหน่วงเวลาเสียชีวิตเป็นหน่วยชั่วโมงแทน เพราะในกระเพาะเรามีกรดที่ใช้ในการย่อยอาหารอยู่

การกินเกลือไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่าง ไซยาไนด์จะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะ เป็นก๊าซไซยาไนด์อยู่ในกระเพาะอาหารและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว

แต่ถ้าสูดไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วินาที

ความเข้มข้นของไซยาไนด์ก็มีผลกับความเร็วมาก ถ้าจับคนล็อกไว้ในห้องก๊าซขนาด 1x1x1 เมตร แล้วปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปประมาณ 300 มิลลิกรัม เขาจะเสียชีวิตในทันที แต่ถ้าปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์ 150 มิลลิกรัมเข้าไป เขาจะมีเวลาอีกประมาณ 30 นาทีก่อนเสียชีวิต แต่ถ้าปล่อยก๊าซเข้าไปเพียง 20 มิลลิกรัม เขาจะยังไม่เสียชีวิต เพียงแต่จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยหลังจากนั้น

อาจารย์อ๊อดระบุว่า กลไกการเกิดพิษของสารกลุ่มไซยาไนด์นั้น เกิดจากไปจับกับ Cellular Cytochrome Oxidase ทำให้เซลล์ใช้ออกซิเจนไม่ได้ (ยับยั้งการหายใจของเซลล์)

พิษของ cyanide เกิดจาก CN-จะจับกับโมเลกุลที่มีประจุบวก ที่สำคัญคือ โมเลกุลของ เหล็ก (Fe) ซึ่งมีทั้ง Ferrous (Fe 2+) ซึ่งอยู่ใน hemoglobin ปกติ และ Ferric ion (Fe 3+) ซึ่งอยู่ใน myoglobin ปกติ แต่ CN- จะจับกับ Ferric ion ได้ดีกว่า Ferrous ทำให้เมื่อ CN- เข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปจับกับ Ferric ion ใน myoglobin เนื่องจาก myoglobin ทำงานในระบบ electron transport ที่ mitochondria ทำให้ได้พลังงาน น้ำ และ carbon dioxide เมื่อ CN-จับกับ myoglobin ก็จะขัดขวางไม่ให้กระบวนการ electrontransport ทำงานได้ตามปกติ เซลล์ของร่างกายจึงอยู่ในสภาพของ anoxia และเกิดภาวะ lactic acidosis (ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง)

ในที่สุดสมองเป็นอวัยวะที่ทนต่อภาวะ anoxia ได้น้อยที่สุด ผู้ป่วยจึงมักมีอาการทางสมองเช่น ชัก หมดสติ มีการหายใจผิดปกติ เนื่องจากมีการกดศูนย์ควบคุมการหายใจ แต่ผู้ป่วยไม่เขียว (cyanosis) ในช่วงแรก ๆ ถึงแม้ว่าจะหยุดหายใจ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้ออกซิเจนได้ ในทางการแพทย์สามารถยืนยันการวินิจฉัย โดยการตรวจ Fundi จะพบว่ามีสีของเส้นเลือดดำและแดงใน retina ไม่แตกต่างกัน

สำหรับใน chronic cyanide poisoning มักจะเป็นแบบ hypoxic encephalopathy อาจจะแสดงออกในลักษณะ neuropsychiatry ส่วนเส้นประสาทสมองเส้นที่ 2 (optic nerve) มักจะมีรายงานถึงพิษจาก cyanide เป็นแบบ optic nerve atrophy

อาจารรย์อ๊อดยกตัวอย่างว่า ไซยาไนด์ที่สามารถหาง่ายคือ “ยาเบื่อหนู” นั่นเอง

อาจารย์อ๊อดยังโพสต์เพิ่มเติมว่า อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยของอาชญากรรม หลักการของผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม ในการทำงานสืบเสาะ ค้นหาพยาน หลักฐาน เบาะแส ของการกระทำความผิด แม้ว่าในบางครั้งจะดูยากยิ่งนัก เหมือนงมเข็มในความมืดมิด แต่ขอให้คลำหาร่องรอยให้เจอ

แม้เพียงน้อยนิดก็เหมือนแสงที่ปลายอุโมงค์ ที่สว่างพอจะคลำทางไปค้นหาความจริง


เหยื่อกำจัดหนูสำเร็จรูป