ผู้ประกันตน ม.33, ม.39 ติดโควิดต้องทำอย่างไร ?

ATK+ ป่วยโควิด
(Photo by CLAUDIO CRUZ / AFP/file photo)

รองโฆษกรัฐบาลเผย นายกฯประยุทธ์ห่วงโควิดระบาดในสถานประกอบการ ขอความร่วมมือควบคุมป้องกัน พร้อมแนะแนวปฏิบัติผู้ประกันตนตาม ม.33 และ ม.39 ตรวจเจอ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องดำเนินการ 3 ขั้นตอน ไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ศูนย์ข้อมูล COVID 19 ของรัฐบาล รายงานโดยอ้างการเปิดเผยจาก น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์อย่างครอบคลุมทุกมิติ กรณีผู้ประกันตน ม.33, ม.39 ติดโควิด-19 กรณี ATK ขึ้น 2 ขีด จะต้องดำเนินการ ดังนี้

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ

1 รักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่ง คลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.ทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

2 หากเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ผู้ประกันตนเข้ารักษาตามดุลพินิจของแพทย์ ณ สถานพยาบาลประกันสังคม และสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

3 เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สีเหลือง-สีแดง

  • – อาการ ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 °C ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94
  • – เข้าเกณฑ์ผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ใช้สิทธิ UCEP Plus ณ สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ไม่เสียค่าใช้จ่าย

สงสัยสอบถามข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง หรือที่สายด่วน โทร.1506

วานนี้ (29 พ.ค. 2566) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์การระบาดเป็นไปตามคาดการณ์ คือหลังเทศกาลสงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน จะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ 21) มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,970 ราย เฉลี่ยวันละ 424 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 425 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 ราย และเสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย

โดยแนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี 60 กว่าราย แต่ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตยังเหมือนเดิม คือเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข