ชี้กรุงเทพฯ-ภาคกลางเสี่ยงกระทบแผ่นดินไหว จากรอยเลื่อยสะกายในเมียนมา

ตึกสูง - กทม.
แฟ้มภาพ

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ชี้กรุงเทพฯ กับภาคกลางเสี่ยงได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อยสะกายในเมียนมา และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ อย่างรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เหตุพื้นที่กรุงเทพตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียว อ่อนไหวจากแรงสั่นสะเทือน และสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า ทำให้อาคารสูงสั่นโยกได้ ส่วนโอกาสเกิดสึนามิน้อย

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 กรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าวสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 (15.266°N, 96.248°E) บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี จากกรมทรัพยากรธรณี

กรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าวเหตุแผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกาย เมียนมา

ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี โดยรอยเลื่อนสะกายเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต เช่น เมื่อปี 2473 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามากกว่า 500 คน

โดยสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2516-2566 ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 โดยเหตุการณ์ขนาด 7.0 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2534 ที่เมือง Mogok สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

กราฟิกแผ่นดินไหวในเมียนมา

ADVERTISMENT

ชี้กรุงเทพฯ-ภาคกลาง เสี่ยงรับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

“กรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น รอยเลื่อนสะกาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

หากเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งระยะใกล้และระยะไกล ชั้นดินเหนียวในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า ที่สำคัญกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน ซึ่งสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารสูงสั่นโยก และอาจจะเสียหายได้” อธิบดีกรมทรัพกรธรณีกล่าว และว่า

ADVERTISMENT

ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยปัจจุบันรอยเลื่อนที่พบว่ามีการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ และลำพูน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2-4.5 ซึ่งจัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้

แผ่นดินไหวที่เมียนมา

สำหรับบริเวณภาคใต้ พบว่ามีกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง โดยจากประวัติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่า มีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้น 3-4 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีความถี่ในการเกิดน้อยกว่ากลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ

แจงโอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวมีน้อย​

ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธบดรกรมทรัพยากรธรณี
ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี

ดร.อรนุชกล่าวต่อว่า สำหรับโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนสกาย บริเวณหมู่เกาะนิโคบา มหาสมุทรอินเดีย ที่เฝ้าระวังกันว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้อาจเกิดสึนามิกระทบต่อจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามันของไทยนั้น พบว่าแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อน Sagaing Fault ในทะเลอันดามัน รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนว N-S แผ่นดินไหวมีกลไกแบบ Strike-slip moment จึงมีโอกาสทำให้เกิดสึนามิน้อยมาก ๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนแบบ Strike-slip moment และขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 6.8

ส่วนแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อน Andaman Back-Arc Spreading Center และ Transform fault รอยเลื่อนเหล่านี้อยู่ทิศตะวันออกของหมู่เกาะ Andaman islands เนื่องจากบริเวณนี้สัมพันธ์กับการเกิดแอ่งในทะเลอันดามัน แผ่นดินไหวในบริเวณนี้จึงมีกลไกแบบ Normal และ Strike-slip moment ดังนั้นโอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวในบริเวณที่เกิดแอ่งใหม่นี้มีไม่มากนัก ถึงแม้รอยเลื่อนจะเป็นแบบ normal moment แต่ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 5.6 หากเกิดสึนามิน่าจะเป็น Local tsunami ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์

ขณะที่โอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวในบริเวณ Transform fault ที่มีแนวการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ มีโอกาสน้อยมาก ๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนแบบ Strike-slip moment และขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 6.5

ด้าน ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สำหรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รวบรวมข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติงาน SOP มีการแจ้งเตือนผ่านทาง SMS Fax เว็บไซต์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา 

และที่ผ่านมากรมอุตุฯ ได้จับมือ LINE ประเทศไทย เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “LINE ALERT” ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นบัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติ สภาพดินฟ้าอากาศ ฝุ่นละออง ให้ประชาชนรับทราบ สามารถติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างทั่วถึงทันเวลา

กรมอุตุนิยมวิทยาในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังแผ่นดินไหว คือการตรวจ เฝ้าระวัง ติดตามและรายงานการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เรามีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อทำการวิเคราะห์จำแนกคลื่นแผ่นดินไหว คำนวณหาตำแหน่งการเกิดรายงานศูนย์กลาง ขนาด ความลึก วันเวลา สถานที่เกิดแผ่นดินไหว จากนั้นจะออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนพร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยามีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวชนิดอัตราเร็ว 75 สถานี สถานีตรวจวัดอัตราเร่ง 55 สถานี และสถานี GPS 13 สถานี ตลอดจนมีความร่วมมือในการใช้ข้อมูลเครือข่ายแผ่นดินไหวร่วมกันกับทั้งภายในประเทศ เช่น กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ IRIS, GFZ และ CTBTO รวมทั้งสิ้น 486 สถานี

ชี้กรุงเทพฯเป็นชั้นดินเหนียว อ่อนไหวจากแรงสั่นสะเทือน

ธนิต ใจสะอาด กรมโยธาธิการและผังเมือง มหาดไทย

ขณะที่นายธนิต ใจสะอาด วิศวกรโยธา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นชั้นดินเหนียวซึ่งมีความอ่อนไหวจากแรงสั่นสะเทือน จึงมีการกำกับดูแลอาคารก่อสร้างเพื่อป้องกันผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) และมีผลบังคับใช้ 11 พ.ย. 40 มีการควบคุมใน 10 จังหวัด ที่ต้องมีการออกแบบโครงสร้างให้รองรับกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ต่อมามีการแก้ไขกฎกระทรวง แผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ 30 พ.ย. 50 ควบคุมเพิ่มเติมใน 22 จังหวัด และล่าสุดแก้กฎกระทรวง แผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 บังคับใช้ 31 ส.ค. 64 มีการควบคุมในพื้นที่ 43 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่เสี่ยงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ

นายธนิตกล่าวว่า ภายหลังการกำกับดูแลอาคารก่อสร้าง จะมีความแข็งแรงมั่นคงเพียงพอแล้ว ส่วนอาคารเก่าที่สร้างมาก่อนกฎหมายบังคับปี 2550 อยากให้เจ้าของอาคารสถานที่หมั่นตรวจเช็กอาคารว่ามีความเสื่อมสภาพหรือไม่ หากต้องการเสริมโครงสร้างให้มั่นคงแข็งแรง กฎหมายจะเปิดช่องให้เสริมโครงสร้างรองรับต่อแรงสั่นสะเทือนเพื่อความปลอดภัย แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากท้องถิ่นที่ดูแลในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

เมื่อถามว่า หากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลือนสะกายอีก 5-10 ปีข้างหน้า ขนาด 7.5 จะส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ ในระดับ 4 จะส่งผลกระทบต่ออาคารอย่างไรบ้าง นายธนิตกล่าว หากเป็นอาคารเก่า อาจมีผลเสียหายแค่ปูนร้าว ปูนกะเทาะเท่านั้น แต่ไม่กระทบต่อโครงสร้างหลัก อย่างไรก็ตามจะมีการสำรวจอาคารเก่าสร้างก่อนปี 2550 ความสูงอาคาร 15 ม. หรือประมาณ 5 ชั้น ในกรุงเทพฯ คาดว่ามีแค่หลักร้อยตึก เพื่อช่วยดูแลอาคารก่อสร้างให้มีความแข็งแรงรองรับต่อแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวได้