
“สนามบินดอนเมือง” ติดอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 29 อันดับ สนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก จากเว็บไซต์ The Boutique Adventurer
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เหตุการณ์ทางเดินเลื่อนของสนามบินดอนเมืองดูดขาผู้โดยสารจนขาดยังอยู่ระหว่างทางท่าอากาศยานดอนเมืองตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาสาเหตุที่ชัดเจน ล่าสุดสำนักข่าวตรวจสอบพบว่า “สนามบินดอนเมือง” ของไทยติดอันดับที่ 26 จาก 29 สนามบินที่อันตรายมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับเว็บไซต์ด้านการเดินทางชื่อดังอย่าง “The BoutiqueAdventurer”
โดย The Boutique Adventurer ระบุถึงสนามบินดอนเมืองว่า เป็นหนึ่งในสนามบินที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในหลาย ๆ แง่
และจัดให้สนามบินดอนเมืองอยู่ในกลุ่ม “พื้นที่ขนส่งทางอากาศเชิงพาณิชย์เพื่อลงจอดทั่วไป” แต่ด้วยความที่มีสนามกอล์ฟตั้งอยู่ระหว่างรันเวย์ 2 รันเวย์ของสนามบินดอนเมือง อาจเพิ่มความรู้สึกอันตรายให้นักกอล์ฟเข้าไปอีกด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น ยังบอกอีกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2011 คือหนึ่งในปัญหาของสนามบินดอนเมืองทำให้เที่ยวบินในประเทศหลายเที่ยวไม่สามารถขึ้นบินหรือลงจอด เนื่องจากหลายรันเวย์เต็มไปด้วยน้ำ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้สนามบินอันตรายแบ่งตามเกณฑ์ดังนี้
ความอันตรายจากสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นได้จากกระแสลมแรง และได้รับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ สนามบิน Barra International Airport (สกอตแลนด์), Wellington International Airport (นิวซีแลนด์) และ McMurdo Station Airport (ทวีปแอนตาร์กติกา)
สำหรับสนามบินที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น ได้แก่ Svalbard Airport (นอร์เวย์), Gustaf III Airport (แคริบเบียน), Gisborne Airport (นิวซีแลนด์), Madeira Airport (โปรตุเกส) และ Gibraltar Airport (ยิบรอลตาร์)
ความอันตรายจากระดับความสูง สภาวะอากาศมีส่วนสำคัญกับการขึ้นลงของเครื่องบินค่อนข้างมาก หากสนามบินตั้งอยู่ในที่สูง ความเร็วในการลงจอดจะเพิ่มขึ้น ทำให้เครื่องบินเคลื่อนที่อยู่บนรันเวย์เป็นระยะทางยาวขึ้นคือ Lukla Airport (เนปาล)
เนื่องจากอยู่บริเวณเบสแคมป์ในหิมาลัยเทือกเขาสูงที่สุดในโลก, Aspen/Pitkin County Airport (โคโลราโด สหรัฐอเมริกา) และ Telluride Regional Airport ในเมืองโคโลราโดเช่นกัน แต่อยู่บนหุบเขาที่มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี และ Courchevel Airport (ฝรั่งเศส) เป็นสนามบินที่อยู่กลางหุบเขาและรีสอร์ตสกี
ความอันตรายที่เกิดจากสภาพของรันเวย์ โดยปัญหาจากรันเวย์ของแต่ละสนามบินจะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ Princess Juliana International Airport (เซนต์มาร์ติน) เนื่องจากเล็กและแคบกว่าสนามบินทั่วไป
Narsarsuaq Airport (กรีนแลนด์) มีความเสี่ยงมีน้ำแข็งปกคลุมรันเวย์ช่วงอากาศหนาวเย็น
Cleveland Hopkins International Airport (คลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา) มีฝนตกหนักบ่อย และเคยถูกประเมินว่าระบบความปลอดภัยต่ำ
Agatti Airport หรือ Aerodrome (เกาะอากัตติ, Agatti Islands ของอินเดีย) มีรันเวย์เล็กและแคบกว่าสนามบินทั่วไป
Congonhas-São Paulo Airport (บราซิล) รันเวย์ลื่น เคยมีอุบัติเหตุเครื่องบินไถลออกนอกลู่ จนมีผู้เสียชีวิต 180 ราย ในปี 2007
ความอันตรายจากทำเลที่ตั้ง ได้แก่ Santos Dumont Airport (บราซิล) มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้การลงจอดทำได้ยาก ตามไปด้วย
San Diego International Airport (เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา) อยู่ใจกลางเมืองท่ามกลางตึกสูง อาจเกิดปัญหาเวลาเครื่องบินลดระดับก่อนลงจอดได้
Toncontin International Airport (ฮอนดูรัส) อยู่กลางหุบเขา
Kai Tak Airport (ฮ่องกง) อยู่กลางเกาะฮ่องกง มีตึกสูงอยู่ล้อมรอบ
Shimla Airport (อินเดีย) อยู่กลางภูเขาสูง
Tioman Island Airport (มาเลเซีย) อยู่ใกล้ภูเขาไฟ ทำให้เวลาลงจอดต้องหักลำเกือบ 90 องศา
ความอันตรายจากปัจจัยทางการเมือง และเหตุการณ์รุนแรงในสังคม
โดยความไม่มั่นคงของประเทศ ส่งผลกระทบในเชิงลบหลายประการต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความเสียหายต่อสนามบิน ตั้งแต่การโจมตีทางอากาศ ไปจนถึงการประท้วงที่รุนแรง เหตุการณ์ที่น่ากังวลเหล่านี้อาจทำให้เที่ยวบินล่าช้าได้ ได้แก่
Damascus International Airport (ซีเรีย) เนื่องจากอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี และยังเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธอีกด้วย
ที่มา : ข่าวสด