
กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัว “เปรมชัย กรรณสูต” พ้นเรือนจำวันนี้ หลังครบกำหนดพักโทษ พร้อมระบุไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม เพราะปัญหาสุขภาพ แต่ยังต้องรายงาน-อยู่ใต้เงื่อนไขคุมประพฤติจนกว่าพ้นโทษ
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 มติชน รายงานว่า จากกรณีนายเปรมชัย กรรณสูต อดีตผู้บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องขังในคดีฆ่าเสือดำ ซึ่งขณะนี้ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2564
โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ว่านายเปรมชัยมีความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ครอบครองและซ่อนเร้นซากสัตว์ป่าคุ้มครองซึ่งได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย ให้จำคุก 2 ปี 14 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวระบุว่า เมื่อช่วงเช้า คณะอนุกรรมการการพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษผู้ต้องขังที่มีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาพักโทษนายเปรมชัย เนื่องการจากได้ลดวันต้องโทษจำนวน 51 วัน และครบกำหนดพักโทษในวันที่ 17 ต.ค. 66 นี้ ทั้งนี้ มีการพิจารณารายชื่อผู้ต้องขังจำนวน 567 ราย
ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ระบุว่า ด้วยกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษจำคุก ครั้งที่ 13/2566 ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้ต้องขังที่เข้ารับการพิจารณารวมทั้งสิ้น 567 ราย อนุมัติ 484 ราย ไม่อนุมัติ 83 ราย
โดยกลุ่มที่อนุมัติปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุกในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 113 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้มีนักโทษเด็ดขาดเป็นที่สนใจของสังคมจำนวน 1 ราย ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต ต้องโทษอยู่ที่เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ ในความผิดฐาน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, มีอาวุธปีนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้เห็นชอบอนุมัติให้ปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุกเพื่อคุมความประพฤติ นายเปรมชัย ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 และจะพ้นโทษในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 แต่เนื่องจากนายเปรมชัยมีปัญหาด้านสุขภาพ ตรงบริเวณข้อเท้าที่เคยถูกคว้านเนื้อที่ตายจากอาการเบาหวานลงขา เพราะป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก
และหากให้อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีการเสียดสีจนเกิดบาดแผลที่รุนแรงขึ้นอีก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบำบัดรักษาในกรณีฉุกเฉิน คณะอนุกรรมการจึงมีมติเห็นควรไม่ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)
ทั้งนี้ เมื่อปล่อยตัวคุมประพฤติจะต้องมารายงานตัวและอยู่ภายใต้เงื่อนไขคุมความประพฤติจนกว่าจะครบกำหนดโทษจริงต่อไป