Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงเวลา Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีหลากหลายทางเพศ เต็มไปด้วยกิจกรรม ขบวนพาเหรด การเฉลิมฉลอง และการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศ
แต่กว่าจะเป็น Pride Month ในภาพที่ทุกคนเห็นวันนี้ ก็เต็มไปด้วยการต่อสู้ การเรียกร้อง ผลักดัน เรื่องสิทธิและเสรีภาพ จนถึงการเคารพซึ่งความหลากหลาย
แล้ว Pride Month เริ่มต้นมาจากอะไร
Prachachat BITE SIZE ชวนเรียนรู้ไปด้วยกัน
จุดเริ่มต้น Pride Month
จุดเริ่มต้นของ Pride Month มาจากประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ในอดีต กลุ่มคนรักร่วมเพศ ถูกเลือกปฏิบัติจากคนอื่น ๆ ถูกตีตราว่า “เป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิต” อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายต่อต้านกลุ่มคนรักร่วมเพศ และห้ามเรื่องการแต่งกายที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด เป็นเพศชาย ต้องแต่งตัวแบบผู้ชาย เป็นเพศหญิง ต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิง
แต่บาร์ ไนต์คลับ บางแห่ง เปิดรับกลุ่มคนเหล่านี้ อนุญาตให้ได้แสดงตัวตนของตัวเองออกมา และบาร์ที่ชื่อว่า “สโตนวอลล์อินน์ (Stone Wall Inn)” ในมหานครนิวยอร์ก ก็เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นสถานที่แห่งการเริ่มต้นเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
เช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจเข้ามาตรวจบาร์สโตนวอลล์อินน์ และพบกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมาก
เรื่องราวบานปลาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนดังกล่าว ทั้งการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ดูถูกเหยียดหยาม และการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง จนมีผู้หญิง 1 ราย ถูกตำรวจตีที่ศีรษะ เพียงเพราะแต่งกายแบบผู้ชาย และกลายเป็นชนวนเหตุสู่จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) มีการรวมตัวของกลุ่มผู้ประท้วง เกิดการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ ตอบโต้การกระทำของตำรวจ โดยเหตุจลาจลนี้ กินเวลาถึง 6 วัน จึงยุติลง
อีก 1 ปีต่อมา หลังเหตุจลาจลดังกล่าว นำไปสู่การเดินขบวนของกลุ่ม “LGBTQ Pride March” เพื่อรำลึกเหตุจลาจลสโตนวอลล์ และเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
ก่อนที่จะขยายไปสู่การเดินขบวนในประเทศอื่น ๆ ตามมาด้วยสัญลักษณ์สำคัญ อย่าง ธงสีรุ้ง และการประกาศให้เดือนมิถุนายน เป็นช่วง “Pride Month”
เมืองไทย ตั้งเป้า “เศรษฐกิจสีรุ้ง”
กลับมาที่ประเทศไทย การผลักดันสิทธิและเสรีภาพสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เกิดขึ้นแล้ว
ทั้งการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งตอนนี้ยังรอการพิจารณาจาก สว.
ส่วนภาคเอกชน เช่น ธนาคาร หรือออฟฟิศหลายแห่ง ที่ปรับเพิ่มสิทธิบางอย่างสำหรับกลุ่มดังกล่าว เช่น วันลา หรือการกู้ร่วมสำหรับสินเชื่อบ้าน
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การผลักดันเศรษฐกิจสีรุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลเศรษฐา ที่ต้องการดึงดูดกลุ่ม LGBTQ+ ต่างชาติ เข้ามาในไทย เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ชื่นชอบการเดินทาง และมีระยะเวลาพำนักยาวกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป
และกิจกรรมช่วง Pride Month เป็นสิ่งที่รัฐบาล โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดหวังเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน Pride Festival ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย

ขณะที่ความคาดหวังทางเศรษฐกิจ ททท. คาดว่าการจัดงาน Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายน จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 860,000 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท และ ททท. มองว่าเป็นโอกาสส่งเสริมภาพลักษณ์ไทย ในการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว Pride Friendly และการเป็นเจ้าภาพ World Pride ที่จะเกิดขึ้นในปี 2030
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.57 ได้ที่ https://youtu.be/ai1uE7g91Gk
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ
- ห้าง-ศูนย์การค้า เตรียมจัดงานใหญ่ฉลองเดือนแห่ง Pride Month มิ.ย.นี้
- ภูเก็ต เนรมิตย่านเมืองเก่าเป็นสีรุ้ง เตรียมจัดงาน Discover Phuket PRIDE 2024
- รมว.ท่องเที่ยวฯ รับนโยบายนายกฯ สั่ง ททท. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง ดันอีเวนต์ Pride
- ททท. ชูธงสีรุ้ง เฉลิมฉลองเดือนแห่ง Pride ดึงนักท่องเที่ยว LGBTQ+
- Bangkok Pride สู่ World Pride โบกสะบัด “ธงสีรุ้ง” ยาวสุดในไทยจาก “สยามสแควร์-ราชประสงค์” 1 มิ.ย.นี้