ผอ.ศูนย์แผ่นดินไหว เผยสาเหตุไทยกระทบแรง มาตรฐานอาคารป้องกันแค่ ‘โครงสร้าง’

เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง เผย ทำไมแผ่นดินไหวกระทบไทยรุนแรง พร้อมที่มามาตรฐานสร้างอาคารไม่ได้รับประกันความเสียหายส่วนต่อขยาย ย้ำแม้ภัยพิบัติโอกาสเกิดซ้ำน้อยก็ต้องพัฒนามาตรฐานต่อไป

งานแถลงข่าว “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ: นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย” จัดโดย สกสว. (TSRI) ภายใต้เซกซั่น “ธรณีวิทยาและความเสี่ยงของแผ่นดินไหวในประเทศไทย” ของศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง อธิบายรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวว่าในภูมิภาคเอเชียมีรอยเลื่อนสีแดงที่แสดงถึงอันตรายและก่อให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นมีปริมาณมาก ขณะที่ในประเทศไทยเองมีรอยเลื่อนสีเทาที่อันตรายน้อยลงมา แต่ไม่มีแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้รับผลกระทบรุนแรงนั้นมาจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไกล ๆ ที่ถูกคาดการณ์ไว้เมื่อ 20 ปีก่อน มีสาเหตุมาจาก “แอ่งดินอ่อน” พื้นที่ที่สามารถขยายความแรงของแผ่นดินไหวได้มากกว่าปกติถึง 3 เท่าตัว โดยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ซึ่งนอกจากการขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหว ยังสามารถสร้างการสะเทือนให้ผิวดินที่ให้ความรู้สึกแผ่นดินสไลด์ไปด้านข้าง จังหวะช้า ๆ เรียกว่า long-period ground motion ที่ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงที่โยกช้าเหมือนกัน เรียกว่า การสั่งพ้อง (resonance)

ADVERTISMENT

สถานการณ์แผ่นดินที่เป็นอันตรายต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ ได้แก่

  • แผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ที่ จ.กาญจนบุรี
  • แผ่นดินไหวขนาด 8 ที่แนวรอยเลื่อนในประเทศเมียนมา
  • แผ่นดินไหวขนาด 8.5-9 ที่แนวมุดตัวในทะเลอันดามัน

มาตรฐานสร้างอาคาร ป้องกัน ‘โครงสร้าง’

ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินสามสถานการณ์ดังกล่าวและคิดถึงสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดมากำหนดเป็นมาตรฐาน กลายมาเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงแผ่นดินไหวในปี 2550 ขยายพื้นที่ควบคุมให้ออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ให้รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล

ADVERTISMENT

แล้วนำคำแนะนำเหล่านี้ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เขาจึงนำมาใส่ในมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทาน การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ. 1301/1302-61 เพื่อสร้างอาคารให้สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวได้ไม่พังถล่มลงมา

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดิวไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ระบุว่า ไม่ได้มีความรุนแรงเทียบเท่ากับมาตรฐานที่กำหนดไว้ เป็นเพียง 1 ใน 3 แรงทั้งหมด ซึ่งมาตรฐานการก่อสร้างนี้เป็นการป้องกันไม่ให้โครงสร้างอาคารได้รับความเสียหาย

“เวลาเรากำหนดมาตรฐาน เราเน้นความปลอดภัยของอาคาร โครงสร้างหลัก ๆ จะต้องยังรับน้ำหนักได้อยู่ คนจะต้องรอดชีวิต เราไม่ได้เน้นส่วนผนังกำแพง เราไม่ได้บอกว่าฝ้ากำแพงจะไม่หล่น กระจกจะไม่แตก อันนั้นไม่อยู่ในเป้าหมายหลัก” ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว

นอกจากนี้ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ระบุว่า เหตุการณที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์นี้คงจะไม่ได้เกิดขึ้นอีกง่าย ๆ อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดก็จะเบาลงและห่างออกไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถประมาทต่อการรับมือในโอกาสต่อไปได้

“การเตรียมพร้อมอาคารที่ทำมาแล้วก็ควรจะแข็งแรงต่อไป อาคารใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาต่อไปอาจดูส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างให้แข็งแรงเพิ่มด้วย” ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าวทิ้งท้าย