ป่วยโควิดสะสมพุ่ง 1.8 แสนราย แห่รักษา ศิริราชประกาศ ยาต้านไวรัสขาด

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก 'ศิริราช' ออกประกาศ COVID-19 ระบาด

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ออกประกาศ COVID-19 ระบาด ประชาชนแห่ใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลยาต้านไวรัสบางชนิดขาดแคลนชั่วคราว ระบุจะได้ยาบรรเทาตามอาการเท่านั้น ด้านกรมควบคุมโรคอัพเดตยอดป่วยสะสมโควิดล่าสุดพุ่งทะลุ 1.8 แสนรายแล้ว กทม.ป่วยเยอะสุด นอนรพ.กว่า 3.3 พันคน เสียชีวิตสะสม 41 ราย ยังไม่นับป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมอีกกว่า 3.4 แสนราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์แจ้งให้ผู้รับบริการทราบว่า เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของ COVID-19 มีผู้มารับบริการที่ศูนย์การแพทย์ฯ เป็นจำนวนมาก ทำให้คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ไม่สามารถให้บริการได้อย่าง“ทั่วถึง” ในกรณีที่ท่านอยู่ในกลุ่มสีเขียว** (กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มอาการไม่รุนแรง/ไม่มีภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก อายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ร่วม) สามารถจองคิวออนไลน์เพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการ

โพสต์ประกาศดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ ยาต้านไวรัสบางชนิดขาดแคลนชั่วคราว ผู้ป่วยที่เข้ามารักษา ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จะได้รับยาบรรเทาตามอาการเท่านั้น จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

ป่วยสะสมพุ่ง 1.8 แสนราย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยล่าสุด จากการรรายงานของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แบบเรียลไทม์ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 พ.ค. 2568 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 56,953 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 11 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 41 ราย

ข้อมูลที่น่าสนใจคือจำนวนผุ้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนถึงปัจจุบัน(24 พ.ค.) ตัวเลขผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นไปถึง 180,681 รายแล้ว ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล จำนวน 3,387 ราย ผู้ป่วยนอก 53,566 ราย

ADVERTISMENT

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิดมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรปราการ ในจำนวนนี้พบว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี เป็นกลุ่มที่ป่วยมากสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 20-29 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ตามตาราง)

จำนวนผู้ป่วยโควิดสะสมล่าสุด 24 พ.ค. 2568

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผู้ป่วยที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งข้อมูลที่กรมควบคุมโรครายงานนั้นมีจำนวน ผู้ป่วยรายใหม่ 7,687 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 33 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมจากไข้หวัดใหญ่มากถึง 341,162 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล 952 ราย และเป็นผู้ป่วยนอก 6,735 ราย และกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด(ตามตาราง)

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสม จนถึง 24 พ.ค. 2568

ก่อนหน้านี้ ศูนย์โควิด-19 ของรัฐบาล รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 พฤษภาคม 2568 ว่าพบผู้ป่วย 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ ทั้งนี้ หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ประมาท สังเกตอาการ ล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในพื้นที่ที่มีความแออัด

โพสต์เตือนโควิด-19-ไข้หวัดใหญ่ระบาด

สายพันธุ์ XEC กรมวิทย์ชี้แนวโน้มลดลง

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 – วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พบ JN.1ยังเป็นสายพันธุ์หลัก คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 63.92 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกที่ยังคงมี JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก

สำหรับสายพันธุ์ XEC พบแนวโน้มลดลง คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 3.07 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วน LP.8.1 (สายพันธุ์ย่อย KP.1.1.3) เริ่มพบในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม 2568 ขณะนี้มีอัตราลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนสะสมที่พบยังน้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้วัคซีนโควิด 19 ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์นี้

นายแพทย์ยงยศ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด 19 เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดในอนาคต โดยเผยแพร่จีโนมบนฐานข้อมูลสากล GISAID ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2563 ถึง 6 พฤษภาคม 2568 มีจำนวนสะสม 47,571 ราย

อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม การล้างมือเป็นประจำ สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

กทม.ป่วยมากสุด สธ.เตือนอย่าตื่นตระหนก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทย์ออกมาเตือนโควิดกลับมาระบาดหนักว่า สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ 1 ม.ค.68 – ปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสม 53,676 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 16,723 ราย ซึ่งเริ่มมีการติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 15 และติดเชื้อสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 18 ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 3 พ.ค.68 จำนวน 14,349 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย

ซึ่งมีการติดเชื้อมากที่สุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 4,624 ราย รองลงมา จ.ชลบุรี 1,177 ราย จ.นนทบุรี 866 ราย และ จ.ระยอง 553 ราย แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 4 พ.ค.-10 พ.ค.68 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,543 ราย โดยจะเห็นได้ว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ เริ่มลดลงแล้ว

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรม หรือ การรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่า โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี จึงขอให้พี่น้องประชาชน ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะโควิด-19 ปัจจุบัน ติดง่าย แต่อาการรุนแรงน้อย แต่ก็ขอเน้นย้ำ ให้ระมัดระวัง ปฎิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด” รมว.สาธารณสุข กล่าว