รัดเข็มขัดหอศิลปแน่น หดงบฯเหลือ53ล้าน หวั่นอยู่ได้แค่กลางปี’62

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครวางมาตรการรัดเข็มขัดยืดลมหายใจ ลดงบฯเหลือ 53 ล้านบาท คาดอยู่ได้ถึงกลางปี 2562 ผู้จัดงานเทศกาลละคร-บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ รับผลกระทบหนัก ย้ำยังสู้-ยืดหยุ่น แนะหารือร่วมจริงจัง บอก“กทม.ไม่ใช่ศัตรู” ด้านนักวิชาการหวั่นเสียหน้าประเทศ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 เวลา 14.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1  ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ประธานคณะกรรมการสรรหาศิลปินศิลปาธร, ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ผศ.ดร. อลิศร์ เทียนประเสริฐ นักวิชาการอิสระ และนายประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดแถลงข่าวสถานการณ์งบประมาณ ผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของเทศกาลระดับชาติและการให้บริการเรียนรู้ด้านศิลปะ และมาตรการรับมือการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายหลังไม่ได้รับงบประมาณจาก กทม. เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 2 ปีงบประมาณ โดยล่าสุด เพิ่งได้รับจดหมายแจ้งว่าจะมีการตัดน้ำในวันนี้ (26ก.ย.)

ภายหลังการหารือเพื่อหาทางออก มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ได้วางมาตรการรัดเข็มขัด โดยวางงบประมาณที่เคยตั้งไว้เมื่อปีที่แล้วจาก 81 ล้านบาท ลดลงเหลือ 53 ล้านบาท ขณะที่อีกหนึ่งมาตรการซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาผลดีผลเสียนั้นคือการปรับรถเวลาเปิดบริการจาก 10.00-21.00 น. เป็น 11.00-20.00 น. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำประปาและไฟฟ้า ทำให้สามารถเปิดใช้งานหอศิลป์ได้ในระยะเวลาที่นานยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่า การยืดเวลาครั้งนี้จะช่วยให้หอศิลปวัฒนธรรมเปิดให้บริการได้ถึงประมาณกลางปี 2562

“เราพยายามทำให้สถานการ์เหมือนปกติ มีน้ำ มีไฟ มีไวไฟ เรายังจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จะพยายามทำให้หอศิลป เหมือนเดิม” ผศ.ปวิตร กล่าว และระบุว่า การแก้ปัญหาในระยะสั้นนี้มีการเปิดรับบริจาคจากประชาชนตามกำลังศรัทธา ทั้งรูปแบบกล่องรับบริจาค เลขบัญชี และ QR code ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ด้าน นายประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพฯ หนึ่งในผู้จัดงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัดเข็มขัดจากพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะอย่างหอศิลปกล่าวว่า การจัดแสดงที่ถูกลดเวลาลงทำให้สล็อตเวลารวน และมีผลกระทบถึงเวลาการแสดง จำนวนการแสดง เวลาพักระหว่างการแสดงสด ตลอดจนเวลาซักซ้อม แม้ศิลปินมืออาชีพอาจได้รับผลกระทบไม่มาก แต่โดยรวมงานเทศกาลจะได้รับผลกระทบตาม เนื่องจากศิลปินมืออาชีพอาจเปลี่ยนไปแสดงในโรงอื่น ทำให้งานเทศกาลที่ควรจะมีศิลปินมากหน้าหลายตาลดลงและทำให้งานกร่อยได้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมที่น้อยลงของเยาวชนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา เนื่องจากความไม่พร้อมด้านเวลาและสถานที่

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ระบุถึงงานเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ โดยมี 75 ศิลปินจาก 33 ประเทศ กระจายทั่ว 20 พื้นที่ในกทม. และหนึ่งสถานที่จัดงานคือ หอศิลปนี้ ว่า ถือเป็นงานเทศกาลระดับโลกที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ แต่เมื่อสถานที่จัดงานมีอุปสรรค ทางผู้จัดงานเทศกาลก็ยินดีที่จะยืดหยุ่นตามแต่ความเหมาะสม

“เราต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เราขอใช้พื้นที่ เอากิจกรรมดีๆ มา ไม่ใช่เพื่อศิลปิน แต่ใครๆ ก็มาชมได้ไม่ว่าจะคนกรุงเทพ คนต่างจังหวัด นักเรียน ผู้สูงวัยก็สามารถเข้ามาชมได้ ไม่ใช่ว่ามีปัญหาแค่ที่นี่ แต่สถานที่อื่นๆ อย่างวัดวาอาราม ก็มีปัญหาเช่นกัน เราก็แก้ปัญหา เพราะเราลงทุนไปแล้ว กระบวนการหยุดไม่ได้ เราเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนที่ดีเหมือนเจอยาขม เราจะประคองสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร น้ำหมด ไฟไม่มี ไม่ตายครับ หรือเราจะแสดงงานศิลปะในสภาวะพัดลมได้ไหม“ ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวและว่า

ในส่วนการบริหารจัดการควรให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาจัดการ ร่วมมือกับ กทม. “กทม.ไม่ใช่ศัตรูกับเรา เราต้องทำงานร่วมกันกับเขา เจอกันครึ่งทาง”

ขณะที่ ผศ.ดร. อลิศร์ เทียนประเสริฐ นักวิชาการอิสระ ร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะประชาชนคนกรุงเทพ ว่า หอศิลปวัฒนธรรมไม่ใช่แค่กรุงเทพหรือประเทศไทย แต่เป็นพื้นที่ระดับโลก มีการนำเข้าและส่งออกวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ของประชากรโลก

“นี่เป็นเรื่องใหญ่ในฐานะคนไทย เราอยากเสียหน้าแบบนี้ อยากดังแบบนี้หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาของแค่หอศิลป กทม. แต่หลายภาคส่วนต้องร่วมคุยกัน และต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาพูด งานวันนี้เป็นเพียงการนับหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มั่นใจว่าทำได้” ผศ.ดร. อลิศร์ กล่าว และว่า หอศิลปมีความชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้งแล้วว่าทำเพื่อประชาชน อีกทั้งเป็นพื้นที่เรียนรู้และแบ่งปัน สร้างประเทศ สร้างชาติ สร้างโลก ไม่ใช่พื้นที่เฉพาะแต่ศิลปิน

ภายในงานแถลงข่าว มีการนำป้ายกระดาษเขียนข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาพวาดลายเส้นตึกหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อาทิ “อัศวินดูถูกดูหมิ่นศิลปะ”, “อย่ามายึด! ของประชาชน”, “อัศวินออกไป” และ “GET OUT!”

นอกจากนี้ เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมได้จัดทำแถลงการณ์ขอประณามความพยายามหยุดหอศิลป์กรุงเทพฯผู้ว่ากทม. อัศวิน ขวัญเมือง โดยมี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มารับเรื่องร้องทุกข์ พร้อมระบุว่า นายกฯรับทราบปัญหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้ในรายละเอียด จึงขอให้สบายใจได้ว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรับรู้เรื่องนี้


หอศิลปกรุงเทพฯ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2551 เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศิลปะวัฒนธรรมในทุกแขนงสาขา ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีผู้เข้าใช้บริการกว่า 1.7 ล้านคน