“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ลาออกบอร์ดการบินไทย หลังดำรงตำแหน่งได้ 1 วัน

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ยื่นลาออกบอร์ดบินไทย หลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วัน เหตุติดกฎหมาย ป.ป.ช. เคยนั่ง รมช.คมนาคมไม่พ้น 2 ปี ยันไม่ได้มีปัญหาขัดแย้ง

วันนี้ (27 พ.ค.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยืนหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยแจ้งว่านาย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ในรายชื่อกรรมการของบริษัทการบินไทยที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะลูกหนี้ ถึงรายชื่อกรรมการของบริษัทฯผู้ทำแผนก็ไม่ปรากฎชื่อของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวรด้วย  มีเพียงชื่อของของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับกรรมการบริษัทฯอีก 5 รายคือ  1.พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน  2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ข่าวสด รายงานว่า นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา การบินไทย เปิดเผยว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย กับประธานบริษัทฯ

สาเหตุการลาออก เนื่องจากติดกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งนายไพรินทร์ ยังพ้นจากตำแหน่ง รมช.คมนาคม ไม่ถึง 2 ปี ซึ่งไม่สามารถไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนได้ นอกจากนี้สมัยที่นายไพรินทร์เป็น รมช.คมนาคม ได้กำกับดูแลบริษัทการบินไทย จึงเกรงว่าการเป็นกรรมการบริษัทการบินไทยในครั้งนี้จะมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งได้ จึงขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูบริษัทการบินไทยมีปัญหา

นายประภาศกล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกรรมการใหม่แทนนายไพรินทร์ เพราะตอนนี้บริษัทการบินไทย เป็นบริษัทเอกชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระเบียบของคณะกรรมการกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดไว้บริษัทต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งตอนนี้บริษัทการบินไทยมีกรรมการเกินกว่าที่ก.ล.ต.กำหนด

“การลาออกของนายไพรินทร์ ไม่มีผลกระทบกับแผนฟื้นฟูการบินไทยที่อยู่ให้ศาลล้มละลายกลางไปแล้ว และมีชื่อของนายไพรินทร์อยู่ในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูได้ เพราะรายชื่อคนทำแผนฟื้นฟูสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาจนกว่าศาลจะมีคำสั่งอนุมัติให้ทำแผนฟื้นฟู และการลาออกของนายไพรินทร์ ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้ง เป็นเรื่องปัญหาของข้อกฎหมายของ ป.ป.ช.เท่านั้น” นายประภาศ กล่าว

นายประภาศกล่าวว่า การจะตั้งกรรมการบริษัทการบินไทยเพิ่ม หลังจากที่เป็นบริษัทเอกชนแล้วทำได้ง่าย สามารถแต่งตั้งรายงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ทันที ต่างจากที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีการสรรหาและต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งใช้เวลานาน ดังนั้นการลาออกของนายไพรินทร์ จึงไม่กระทบกับการดำเนินการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย หากบริษัทหรือศาลเห็นว่า ต้องมีกรรมการ หรือผู้ทำแผนเพิ่ม ก็สามารถเสนอชื่อคนที่เหมาะสมเข้าไปทำงานได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งไปยัง ตลท. เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท โดยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ทดแทนแทนกรรมการที่ว่าง 4 ตำแหน่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ นายไพรินทร์ ซึ่งถือว่าดำรงตำแหน่งบอร์ดการบินไทยได้เพียง 1 วันเท่านั้น