โปรเจ็กต์ “สะพานข้ามเจ้าพระยา” กทม.จ่อพับแผน 2 แห่ง

รีวิวโปรเจ็กต์ “สะพานข้ามเจ้าพระยา” กทม.จ่อพับแผน 2 แห่ง คนต้าน-ติดเวนคืนมหาดไทย-โรมแรมหรู

นับจากที่แผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่งที่ศึกษาโดย ”สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อปี 2554 ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเดินหน้าก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทาง และเป็นตัวช่วยในการระบายการจราจรสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในพื้นที่สมุทรปราการ กรุงเทพฯ นนทบุรีและปทุมธานี

10 ปี สร้างเสร็จ 1 แห่ง

ถึงขณะนี้ร่วม 10 ปี มีเพียง “สะพานนนทบุรี 1” ที่กรมทางหลวงชนบททุ่มเงินสร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อปี 2557

และ ”สะพานเกียกกาย” ที่กทม.ผลักดันมาหลายปี เพิ่งจะได้งบประมาณเวนคืนและก่อสร้างเริ่มนับหนึ่งโครงการในปี 2563

ส่วนที่เหลือยังมีปัญหาอุปสรรคทั้งงบประมาณที่มีจำกัด การต่อต้านของประชาชนในพื้นที่

กทม.คาดตอกเข็มแค่ 2 แห่ง

แหล่งข่าวจาก กทม. เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามแผนของสำนักการโยธา กทม.จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 4 แห่ง ใช้เงินเวนคืนและก่อสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท

“สะพาน 4 แห่ง ที่มีโอกาสจะได้สร้าง คือ สะพานเกียกกาย กับท่าราชวงศ์-ดินแดง ส่วนลาดหญ้า-มหาพฤฒารามกับจันทน์-เจริญนคร ยังมีประชาชนคัดค้าน” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับทั้ง 4 แห่ง จะสร้างเรียงจากพื้นที่โซนกรุงเทพฯ ตอนเหนือ มี “สะพานเกียกกาย” และถนนต่อเชื่อมไปยัง ถ.พหลโยธิน ใช้เงินก่อสร้าง 12,717.4 ล้านบาท รองรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้รับงบประมาณเวนคืนและก่อสร้างบางส่วนแล้ว

ราชวงศ์-ดินแดงสร้าง 2 ชั้น

โซนกรุงเทพฯตอนกลางมี “สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง” จะไม่มีเวนคืน ค่าก่อสร้าง 995 ล้านบาท เป็นสะพาน 2 ชั้น 2 ช่องจราจร ด้านบนรองรับรถ ด้านล่างเป็นทางเดิน สร้างในแนว ถ.ราชวงศ์ และ ถ.ท่าดินแดง จุดเริ่มต้นอยู่ที่ ถ.ทรงวาด วิ่งตาม ถ.ราชวงศ์-ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง-ถ.ท่าดินแดง อยู่ห่างจากไอคอนสยาม 1.5 กม. แบ่งเบาการจราจรในสะพานพระปกเกล้าและสะพานสาทร

และ “สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม” วงเงิน 1,455 ล้านบาท ห่างจากไอคอนสยาม 500 เมตร มีจุดเริ่มต้นฝั่ง ถ.ลาดหญ้า ซอยเจริญรัถ 18 กับซอยลาดหญ้า 17 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครบริเวณ ถ.มหาพฤฒาราม ใกล้โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม จะเชื่อมต่อทางลอดในแนววงเวียนใหญ่ ถ.อิสรภาพ ถ.เพชรเกษม แบ่งเบาจราจรสะพานพุทธ สะพานพระปกเกล้า ส่วนฝั่งถนนมหาพฤฒารามจะเชื่อมโยงโครงข่ายคลองผดุงกรุงเกษม

“จันทน์-เจริญนคร” ติดมหาดไทย-โรงแรมหรู

โซนกรุงเทพฯตอนใต้มี “สะพานจันทน์-เจริญนคร” พร้อมทางขึ้น-ลงเชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร มีระยะทาง 1.4 กม. วงเงิน 5,800 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และเวนคืน 4,000 ล้านบาท เป็นสะพาน 4 ช่องจราจร สร้างในแนว ถ.จันทน์ ซอย 42 ยกข้าม ถ.เจริญกรุงไปยังที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง”โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา” อยู่ห่างจากเอเชียทีค 1 กม.

จากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบ ถ.เจริญนคร 24 บริเวณที่ดินกรมธนารักษ์ ที่ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยขอใช้พื้นที่ก่อสร้างกระทรวงแห่งใหม่ อาจต้องชะลอโครงการไว้ก่อน ซึ่งโครงการจะช่วยแก้จราจร ถ.เจริญกรุง ถ.จันทน์ ถ.เจริญนคร และแบ่งเบาจราจรในสะพานตากสินและสะพานกรุงเทพ

ปัดฝุ่นสะพานสนามบินน้ำ

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า กรมได้งบประมาณปี 2564 เพื่อศึกษารีวิว โครงการก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำ โดยแนวคาดว่าจะไม่ต่างจากแนวเดิมที่ศึกษาไว้

แต่จะตัดสร้างช่วงแนวตะวันตก จากถนนกาญจนาภิเษกใกล้กับสถานีศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร (เดโป้) รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ข้ามถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนราชพฤกษ์ แล้วสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำมาสิ้นสุดที่ถนนติวานนท์ ระยะทางประมาณ 13 กม. วงเงินลงทุน 15,257 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 4,199 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 11,058 ล้านบาท

ส่วนสะพานเชื่อมต่อ “จ.สมุทรปราการ-สมุทรสาคร” หรือโกลด์เด้นท์เกจ ระยะทาง 59 กม.ใช้เงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และประเมินวงเงินลงทุน และต้องบูรณาการร่วมกับกรมทางหลวงช่วงที่อยู่ในแนววงแหวนรอบที่3

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นอยู่ถ.สุขุมวิทสายเก่าใกล้เมืองโบราณ ผ่านฟาร์มจระเข้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน ถ.สุขสวัสดิ์ ไปเชื่อมกับ ถ.เลียบคลองสรรพสามิตตัดผ่านป่าชายเลนไปบรรจบ ถ.พระรามที่ 2

อีก 4 แห่งรอศึกษา-ทำอีไอเอ

เป็นความคืบหน้าล่าสุด ส่วนที่เหลือยังเป็นโครงการอยู่ในแผนงาน ไม่ว่า ”สะพานพระราม 2” ยังไม่ได้รับงบศึกษารายละเอียด เป็นสะพานยาว 2 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร แนวอยู่ต่างระดับ ถ.พระรามที่ 2 ยกข้ามถ.ราษฎร์บูรณะ แม่น้ำเจ้าพระยา ถ.เจริญนคร บรรจบถ.พระรามที่ 3 ตัดกับ ถ.สาธุประดิษฐ์

“สะพานท่าน้ำนนท์” วงเงิน 800 ล้านบาท ยาว 490 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร สร้างบน ถ.ท่าน้ำนนท์-วัดโบสถ์ ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามมาอีกฝั่งลงที่ ถ.กรุงเทพฯ-นนทบุรี ล่าสุดรองบศึกษาความเหมาะสม เพราะอาจจะต้องปรับแบบใหม่เป็นสะพานคนข้ามแทน เนื่องจากอยู่ใกล้สะพานนนทบุรี 1 ทำให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจลดลง

“สะพานปทุมธานี 3” ของกรมทางหลวง มีค่าก่อสร้างสะพานรวมถนนต่อเชื่อม 15,822 ล้านบาท เป็นสะพานยาว 600 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมถนนต่อเชื่อม 10.5 กม. ไปต่อเชื่อมกับ ถ.วงแหวนรอบนอกตะวันตกกับ ถ.รังสิต-ปทุมธานี บริเวณแยกโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและทำรายงานอีไอเอ


สุดท้าย “สะพานสามโคก” อยู่ระหว่างศึกษาทำรายงานอีไอเอ มีค่าก่อสร้างสะพานรวมโครงข่ายถนน 8,534 ล้านบาท เป็นสะพาน 6 ช่องจราจรยาว 440 เมตร พร้อม ถนนต่อเชื่อมอีก 8.94 กม.เริ่มต้นจาก ถ.สาย 347 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปลงที่ ถ.ปทุมธานี-สามโคก-เสนา