รู้จัก ไวรัส ASF โรคระบาดใน “หมู” พบเชื้อในไทย ?

หมู-สุกร.
PHOTO : PIXABAY
ปรับปรุงเนื้อหาล่าสุด วันที่ 7 มกราคม 2565

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ เชื้อไวรัส ASF ไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดใน “หมู” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรเกิดความกังวลอย่างมาก เนื่องจากต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อ

“ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จัก ไวรัส ASF ถึงการกระจายเชื้อ และอาการของหมูหากติดเชื้อดังกล่าว

ASF คืออะไร

ASF ย่อมาจาก African swine fever virus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หากเกิดโรคนี้ จะทำให้ “หมู” ตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษาที่จำเพาะ

จาก “หมู” ติดต่อไปยัง “คน” ?

โรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อไปสู่คน แต่เชื้อไวรัสจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือน ซึ่งประเทศที่มีการระบาดของโรคดังกล่าว จะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม

อาการของโรค

  • “หมู” จะตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแห้ง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำ โดยเฉพาะใบหู ท้อง และขาหลัง
  • มีอาการทางระบบอื่น ๆ เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในทุกช่วงของการตั้งท้อง
  • พบได้ทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัยของ “หมู”
  • อัตราการป่วย เท่ากับ 100% อัตราการตาย เท่ากับ 30-100% แต่หากเป็นใน “ลูกหมู” อัตราการจะสูงถึง 80-100% ภายใน 14 วัน

การติดต่อของโรค

การสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของ “หมู” ที่ป่วย ได้แก่ การหายใจเอาเชื้อเข้าไปภายในร่างกาย, การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน, การโดนเห็บที่มีเชื้อกัด

ทั้งนี้ เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อ สามารถแพร่กระจายไวรัสได้

การระบาดของเชื้อ ASF

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 สาธารณรัฐประชาชนจีน พบการระบาดของเชื้อ “ASF” และมีแนวโน้มการแพร่กระจายในวงกว้าง ตามการรายงานจากกรมปศุสัตว์

เชื้อ ASF ระบาดในไทย ?

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การรายงานการพบเชื้อ ASF ในหมูทั่วโลกจะมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ไทยปลอดจากเชื้อ ASF แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จึงได้ให้ความสำคัญมากได้ผลักดันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ และเร่งสั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษาค้นคว้าความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรค ASF และติดตามการให้ความช่วยเหลือในการอนุมัติงบกลางเพื่อจ่ายชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง