
กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้คนไทย เกือบ 70 ล้านโดส ล็อตแรก เข้าไทย 2 แสนโดส ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
วันที่ 4 มกราคม 2564 มติชนรายงานว่า นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มกราคม ว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ช้าไปกว่าประเทศส่วนใหญ่
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- สนามบินเยอรมนีป่วน ! การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินแฟรงก์เฟิร์ต-มิวนิก 26-27 มี.ค.
ทั้งนี้ มีข้อมูลออกไปทางโลกโซเชียลและหลายฝ่ายมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนสับสนและไม่แน่ใจ ทำงานเรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลว่าวัคซีนของเจ้าใด จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ มีการเตรียมข้อมูล วางเป้าหมาย มีกลไกที่ทำให้ได้วัคซีนมา เป้าหมายยังไม่เปลี่ยน ยังจะฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยรัฐ และเป็นการฉีดฟรีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร เป็นวัคซีนเกือบ 70 ล้านโดส
“สิ่งที่เราเตรียมการคือ 1.ต้นทุนในมือ เรื่องการเจรจาของบริษัทแอสทราเซเนกา ที่ใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้เราทำสัญญา 26 ล้านโดส อยู่ระหว่างการผลิตในประเทศไทย คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะได้ฉีดให้กับคนไทย บนแรงกดดันเราไม่ได้หยุดแค่นี้ อีกร้อยละ 20 จึงมีการเจรจาร่วมกับโคแวกซ์ (COVAX) แต่เป้าหมายมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากมีความยุ่งยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และอีกร้อยละ 10 ทำข้อตกกับบริษัทที่คิดว่ามีโอกาสผลิตวัคซีนสำเร็จ” นพ.ศุภกิจกล่าว
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า มีความพยายามเจรจากับหลายฝ่าย ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา วัคซีนประเทศจีน และอาจจะขอซื้อเพิ่มเติมจากแอสทราเซเนกาได้ ซึ่งจะเพิ่มให้ถึงเป้า และข่าวดีที่เกิดขึ้น 2-3 วันที่ผ่านมา คือ บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) จะนำวัคซีน 2 แสนโดส เข้ามาไทยในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน ปลายเดือนมีนาคม อีก 8 แสนโดส และปลายเดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 2 ล้านโดส
“วัคซีนไม่ใช่สินค้าที่จะไปช้อปปิ้ง วันนี้สภาพของตลาดวัคซีนไม่ได้มีอยู่มากมาย ที่สำคัญต้องมีระบบควบคุมคุณภาพและปลอดภัย หากมีคนเอามาขายจากโรงงานไม่ได้มาตรฐาน แล้วมีปัญหา เราคงไม่ซื้อมาฉีดให้คนไทย” นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ไม่ได้ห้ามบริษัทเอกชนที่นำเข้าวัคซีน แต่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยก่อน ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องผลการทดลองว่ามีความน่าเชื่อหรือไม่ โรงงานผลิตเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่