จัดกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด ล็อตแรก ก.พ. 2 แสนโดส

ภาพโดย Elchinator จาก Pixabay

จัดกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด ล็อตแรก ก.พ. 2 แสนโดส ลุ้น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลงมติพรุ่งนี้ (11 ม.ค.)

วันที่ 10 มกราคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าในการเกิดโรคระบาดทุกครั้ง โดยเฉพาะการระบาดที่กว้างขวางไปทั่วโลกเช่นนี้ วัคซีนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาด เป็นการฉีดเพื่อให้มนุษย์มีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่งลดอำนาจการแพร่กระจายเชื้อ ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการจะได้มาของวัคซีน ส่วนใหญ่จะต้องผ่านการคิดค้น มีการทดลองในหนู ในลิง ว่ามีภูมิคุ้มกันขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ปลอดภัยแค่ไหน

เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ จากนั้นจึงนำไปทดลองในมนุษย์ ระยะที่ 1,2,3 และระยะที่ 3 จะเป็นตัวตัดสิน ต้องมีการทดลองอย่างกว้างขวางในพื้นที่แพร่ระบาด และวัคซีนทั่วโลกขณะนี้อยู่ระยะ3 เพียงแต่บางแห่งถูกกดดันจากการแพร่ระบาดที่มากขึ้นจึงต้องนำมาใช้เร่งด่วน ที่เป็นการทดลองระหว่างทางร่วมด้วย

“ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ประเทศเราทำไม่ได้ เพราะเราต้องรอจนถึงเฟส 3 ผมขอย้ำว่าตอนนี้ไม่ว่าจะบริษัทใดก็ตามที่ประกาศฉีดแล้ว ยังเป็นการทดลองเฟส 3 ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แต่บางประเทศก็เตรียมขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว”

ทั้งนี้ นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่เรานำมาพิจารณาคือ 1.คุณสมบัติของวัคซีน มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร 2.ราคา ขณะนี้บางบริษัทก็ทำในลักษณะการค้าเต็มที่ บางบริษัทก็ทำเพื่อช่วยมนุษย์ เพราะฉะนั้นราคาก็มีความหมาย ถ้าแพงเกินไปแล้วเราต้องฉีดหลายร้อยล้านโดส จะเป็นภาระต่องบประมาณ 3.จำนวน เขาจะขายให้เราได้ราคาเท่าไร ที่สำคัญคือเวลาไหน เพราะการซื้อวันนี้ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้จะได้เลย อาจอีก 6เดือน ถึง 1 ปี

ฉะนั้นทุกอย่างต้องนำมาประมวลให้รอบครอบ เพราะเราไม่อยากให้ไทยมีวัคซีนใช้ในขณะที่มันยังไม่สมบูรณ์ แล้วไม่อยากให้มีใช้แค่วัคซีนชนิดเดียว เพราะถ้าหากเกิดผลไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเกิดขึ้นจะสุ่มเสี่ยงเราจึงเลือกเจรจากับวัคซีนหลายชนิด แต่ก็ต้องไม่มากเกินไป ซึ่งคาดการณ์ไม่เกิน 3 ชนิด เพราะมากกว่านี้จะยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการ

ซึ่งประเทศไทยมีกลไกที่ได้พูดคุย กันอย่างเป็นระบบ มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ รวมถึง คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูคุณภาพการนำเข้าไทยตามหลักการสากล และการนำเข้ามาใช้แต่ละรอบต้องยื่นข้อมูลให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามเอกสารที่กำหนดไว้หรือไม่ และร่วมศึกษาอีกหล่ายหน่วยงาน มีการเจรจานับครั้งไม่ถ้วนจากองค์กรที่หลากหลาย จึงขอให้มั่นใจว่าเรามีการพิจารณาอย่างถ้วนถี่

“แต่สิ่งที่กังวล เกิดประเด็นถกเถียงทางโซเชียลมีเดียเรื่องเอกชนเสนอนำเข้าวัคซีนนั้น บางท่านให้ความเห็นว่า น่าจะส่งเสริมให้เอกชนนำเข้ามาเยอะๆ เพราะจะได้แบ่งเบาภาระรัฐ ซึ่งเรายืนยันว่าไม่ได้ห้ามถ้าทำตามกติกา แต่จะเกิดประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำถ้าให้เอกชนนำเข้าคนมีเงินเท่านั้นจึงจะซื้อฉีดได้ ทั้งนี้จึงต้องบอกว่าหากไม่ได้รีบร้อนอะไรก็ไม่จำเป็นต้องฉีดก่อนเพราะรัฐเตรียมฉีดให้ฟรี”

ด้าน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีวัคซีนหลายชนิดผลทดสอบออกมาแล้วว่าได้ประสิทธิผล เช่น วัคซีนของไฟเซอร์ mRNA ของสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมกับเยอรมนี มีการประกาศผลแล้วว่า มีประสิทธิผลถึง 95% จากการทดสอบฉีด 2 โดสห่างกัน 21 วัน

ส่วนของโมเดิร์นนาก็เป็นชนิดเดียวกัน มีประสิทธิผล 94.5% ซึ่งทั้งสองชนิดได้รับการขึ้นทะเบียนในสหรัฐอเมริกาแล้ว และเริ่มมีประเทศอื่นทยอยขึ้นทะเบียนตามเช่นของแอสตร้าเซนเนก้า ที่อังกฤษร่วมมือกับสวีเดน เป็น viralvector มีประสิทธิผล 62%-90 แล้วแต่ว่ามีการฉีดปริมาณมากน้อยแค่ไหน ฉีดสองโดสห่างกัน 28 วัน

วัคซีนของรัสเซีย ชนิดไวรัล เว็คเตอร์ ประสิทธิผลผล 92% ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 24 วัน และวัคซีนเชื้อตาย ของบริษัทในประเทศจีน ประสิทธิผลอยู่ที่ 79% ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 21วัน และล่าสุดคือ วัคซีนเชื้อตายของบริษัทซีโนแวค ประสิทธิผลที่ 78% ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 14 วัน อยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนที่ประเทศจีน

กระทรวงสาธารณสุขมีการจับตาดูข้อมูลวัคซีนอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาจองซื้อ ซึ่งการจองซื้อกับแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดสเป็นการจองแบบที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่ไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานมีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี สามารถเป็นซัพพลายป้อนประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนก็ยังได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนที่จะผลิตได้

นอกจากนี้ นายแพทย์นคร กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญต่อมาที่ต้องพิจารณาเมื่อเราจะนำเข้าคือ ผลข้างเคียง และการเก็บวัคซีน แต่ละชนิดก็ต่างกัน เพราะของไฟเซอร์ต้องเก็บที่อุณหภูมิติดลบ75 องศาเก็บได้นาน 6 เดือน ถ้ามีตู้เย็นปกติ 2-8 องศาก็จะเก็บได้แค่ 5 วัน ส่วนโมเดิร์นน่าต้อง-20องศา แต่วัคซีนที่เริ่มทยอยออกมาหลังๆ เช่น รัสเซีย ของจีนซิโนแวค ก็เก็บได้ในตู้เย็นปกติ 2-3 องศา และจะเริ่มเห็นวัคซีนอีกหลายบริษัท คาดประกาศผลภายในปี 64 เรายังจับตาดูเพื่อพิจารณาจัดหาวัคซีนต่อเนื่อง

ส่วนนายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนำเข้าวัคซีนมาใช้ในไทยนั้นจะเป็นการทยอยนำเข้ามา 2 ล้านโดสจากซิโนแว็กซ์ เป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมมีความปลอดภัยสูง ที่ประเทศจีนมีการฉีดให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยเป็นการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ยังไม่พบว่ามีรายงานผลข้างเคียงชนิดรุนแรง และจะได้ขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็ว ๆ นี้ โดยล็อตแรกปลายเดือน ก.พ.ล็อตถัดไปคือ มี.ค.เม.ย.

พอเดือน พ.ค. ก็จะเป็นล็อตใหญ่จากบริษัทแอสตราเซเนก้า 26 ล้านโดส และหลังจากนั้นอีก 35 ล้านโดส โดยรวมที่มีการจัดหาวัคซีนใช้ประเทศไทยประมาณ 60 กว่าล้านโดส สำหรับคนไทยประมาณ 30 ล้านคน เบื้องต้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางองค์การเภสัชกรรมได้สำรองงบกว่า 1 พันล้านบาท ซื้อมาก่อนระหว่างที่รัฐบาลยังไม่ได้โอนงบฯ

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ยูนิเซฟได้มีการประเมินว่าวัคซีนที่จะมาตอนต้นจะมีจำนวนจำกัดมาก แต่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้เพราะฉะนั้นช่วงครึ่งปีแรกวัคซีนจะยังน้อย

แต่ได้มีแผนการจัดสรรวัคซีนแบ่งกลุ่มเป้าหมายการรับออกเป็น 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน

2.บุคคลที่มีโรคประจำตัว โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง ที่อยู่ในระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด ที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วย เคมีบำบัด รังสีบำบัต และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

3.เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม โควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

โดยเป้าหมายของการฉีดวัคซีน 2 ล้านโดส (เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564)

  • วัคซีน 2 แสนโดสแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มบุคลการทางการแพทย์ สาธาณสุขด่านหน้า (รวมถึง อสม.) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนาม ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (ช่น สมุทรสคร ระยอง ชลบุรี เป็นตัน ) จำนวน 20,000 คนและในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมี ภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 180,000 คน
  • วัคซีน 8 แสนโดสแรก ในเดือนมีนาคม 2564 ฉีดเข็ม 2 ในกลุ่มข้อ 1 จำนวน 200,000 โดส อีก 600,000 โดส ฉีดในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุดและชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวมถึง อสม.) จำนวน 60,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ 540,000 คน
  • วัคซีน 1 ล้านโดส ในเดือนมษายน 2564 ฉีดเข็มที่สองในกลุ่มตามข้อ 2 จำนวน 600,000 คน และอีก 400,000 โดส สำหรับกรณีที่ระบาด

อย่างไรก็ตาม จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 11 ม.ค. นี้ หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่แผนการเตรียมความพร้อม พิจารณาสถานพยาบาลที่จะจัดบริการฉีด การอบรมเจ้าหน้าที่ และการลงทะเบียนด้วยแอปพลิเคชั่นเนื่องจากมีการเคลื่อนของคนการใช้แอปพลิเคชั่น จึงสะดวกในการลงทะเบียนและติดตามการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และติดตามผลหลังการรับวัคซีนด้วย