เปิดเส้นทาง ขับ 120 กม./ชม. วิ่งได้ที่ไหนบ้าง? ตามกฎกระทรวงใหม่

120 กม.วิ่งได้ที่ไหนบ้าง
Image by PublicDomainPictures from Pixabay

ผู้ใช้รถต้องทราบ! หลังมีประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วยานพาหนะ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. จะครอบคลุมถนนเส้นใดบ้าง เช็กเลย 

วันที่ 11 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด ลงนามโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564

หนึ่งในสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวคือ รถที่นอกเหนือจากข้อยกเว้น 6 ข้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ทั้งนี้ หากรถดังกล่าวอยู่ในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้น มีข้อจำกัดด้านการจราจร หรือทัศนวิสัยมีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงนี้ยังไม่ครอบคลุมถนนทุกเส้น แต่ต้องเป็นทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป (4 ช่องจราจรไป – กลับ) มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน

ซึ่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เส้นทางแรกที่จะนำร่องกำหนดอัตราความเร็วของรถยนต์เป็นไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) แบ่งเป็น 2 ระยะ

  1. ระยะที่ 1 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา – จังหวัดอ่างทอง ระยะทาง 50 กิโลเมตร
  2. ระยะที่ 2 จังหวัดอ่างทอง – จังหวัดชัยนาท ระยะทาง 100 กิโลเมตร

ต่อมา วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกฎกระทรวงบังคับใช้แล้ว ต้องรอกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ออกประกาศของกรมที่จะประกาศรายชื่อถนน ที่สามารถใช้ความเร็วตามกฎกระทรวงกำหนด

ซึ่งทราบเพียงว่า ถนนที่กรมทางหลวงจะนำร่องคือ ทางหลวงสายเอเชียช่วงบางปะอิน – อ่างทอง ส่วนกรมทางหลวงชนบท จะนำร่องที่ ถ.ราชพฤกษ์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าถนนทั้ง 2 เส้นทาง ได้ปรับปรุงสภาพทางให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดแล้วเสร็จหรือยัง คาดว่ากลางปีนี้จะเริ่มบังคับใช้ได้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนของกรมฯ จะนำร่องที่ถนนราชพฤกษ์ทั้งเส้นทาง ระยะทางประมาณ 50 กม. โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงเครื่องหมายจราจร (Traffic Signs) และเพิ่มเครื่องหมาย รวมถึงปรับปรุงสีบนพื้นผิวจราจร (Traffic Marking)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กฏกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้ว แต่การบังคับใช้จะต้องรอให้ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงแต่ละพื้นที่เป็นผู้ออกประกาศเรื่องพื้นที่ และระยะเวลาที่จะเริ่มบังคับใช้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว จะไม่ได้มีผลบังคับใช้กับถนนทุกสาย