“อาลัวพระเครื่อง” ดราม่าขนมหวานสะเทือนใจชาวพุทธ?

อาลัวพระเครื่อง1

ชาวเน็ตเถียงกันเสียงแตก ร้านขนมไทยขายอาลัวรูปพระเครื่อง เหมาะสมหรือไม่? ล่าสุดร้อนถึงสำนักงานพระพุทธศาสนา เตรียมส่งหนังสือเตือนเรื่องความไม่เหมาะสม 

วันที่ 28 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา โลกออนไลน์มีการพูดถึงและแชร์ต่อความแปลกใหม่ของขนมไทยจากร้าน มาดามชุบ ซึ่งได้ทำ “ขนมอาลัว” ที่มีรูปลักษณ์เป็น “พระเครื่อง” สีสันหลากหลาย จำหน่ายกล่องละ 100 บาท มี 20 ชิ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบขนมหวานและไอเดียแหวกแนวเป็นอย่างมาก

แต่ด้วยความที่ “พระเครื่อง” เป็นวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย จึงมีผู้แสดงมุมมอง “ไม่เห็นด้วย” โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเปรียบเทียบกับการนำรูปพ่อแม่มาทำให้คนกิน ซึ่งเชื่อว่าคนจะรู้สึกแปลก นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงความเห็นในประเด็นการให้เกียรติและกาลเทศะ นอกเหนือจากความเชื่อ ความศรัทธา

ในทางกลับกันฝั่งที่เห็นด้วยรายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องมองว่า การทำขนมอาลัวรูปพระเครื่องเป็นความคิดที่ดี สามารถสร้างรายได้ ดีกว่าคนที่ทำพระเครื่องปลอม ก่อนจะสรุปว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ที่ฮือฮาคือความเห็นจาก พระมหาไพรวัลย์ วรวณโณ พระนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังจากวัดสร้อยทอง ซึ่งมองว่า ขนมอาลัวพระเครื่องไม่ได้เป็นการลบหลู่แต่อย่างใด คนส่วนใหญ่ยอมรับเรื่องลักษณะนี้ไม่ค่อยได้ แต่กลับยอมรับได้กับการปั้มพระเครื่องออกมาขายเป็นตะกร้า องค์ละ 5-10 บาท

พระชื่อดังบอกอีกว่า “คนที่ซีเรียสกับการปรามาสพระพุทธเจ้าในรูปแบบของขนม ช่วยซีเรียสเวลาคนเอาพระพุทธเจ้าไปทำเป็นของขลัง ไปทำเป็นเรื่องไสยศาสตร์อวดอ้างสรรพคุณ ไปทำเป็นของพานิชย์ในการค้าขายและหลอกลวงคนด้วยนะ”

 

การแสดงมุมมองในโลกออนไลน์ไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อเรื่องนี้ร้อนไปถึงหู นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะล่าสุดนายณรงค์แจ้งว่าเตรียมทำหนังสือชี้แจงไปยังร้านขนมดังกล่าวเรื่องความไม่เหมะสม เนื่องจากพระเครื่องเป็นวัตถุมงคล เครื่องสักการะบูชา

ด้านนางสุชาดา หิรัญภัทรานันท์ วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่าจากการหารือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงครามมีความเห็นตรงกันว่า การนำพระเครื่องไปทำเป็นขนมน่าจะไม่เหมาะสม

“หากมองในส่วนของการประกอบอาชีพ แนะนำว่าทำเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงคราม เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา จะดีกว่า อีกอย่างหากขนมเสีย ต้องนำไปทิ้ง แล้วมีสุนัขหรือแมวมากัดกิน จะยิ่งไม่เหมาะสม น่าเป็นห่วงมาก”

ทันทีที่ทราบว่า ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจะส่งหนังสือชี้แจงไปยังร้านขนม พระมหาไพรวัลย์ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยครั้งนี้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง ดังนี้

สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธไม่กล้าชี้ว่า ไอ้ไข่อยู่ในวัด และคนพากันไปจุดประทัดเซ่นไหว้เช่นนั้น ไม่เหมาะสม

สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธ ไม่กล้าชี้ว่า พระพิฆเนศองค์ใหญ่กว่าหลังคาโบสถ์อยู่ในวัด ไม่เหมาะสม

สำนักงานพุทธกล้าชี้ว่า ขนมพระเครื่องไม่เหมาะสม แต่สำนักงานพุทธไม่กล้าชี้ว่า การบูชาราหู บูชาพยานาค การทำพิธีดูดวง เจิมหน้าผาก ลงนะหน้าทอง ครอบครู ซึ่งทำกันอยู่ในวัด (ดังดัง) ไม่เหมาะสม

ทั้งหมดนี้คือดราม่าร้อน ซึ่งเต็มไปด้วยคำถามแหลมคม ท้าทายสังคมไทยที่เรียกตัวเองว่า “เมืองพุทธ” ท่ามกลางวิกฤตโควิด ที่พ่อค้าแม่ค้าพากันงัดไอเดีย-กลยุทธ์ ดิ้นรนต่อลมหายใจ