“อาลัวพระเครื่อง” ผิดกฎหมายหรือไม่? ทนายมีคำตอบ

อาลัวพระเครื่องผิดกฎหมายหรือไม่
ภาพจากเฟซบุ๊ก มาดามชุบ

ดราม่าออนไลน์ “อาลัวพระเครื่อง” เห็นทีจะไม่จบง่าย ๆ เมื่อทนายความออกมาให้ความรู้เรื่องกฎหมาย อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานดูหมิ่นเหยียดหยามวัตถุ หรือสถานที่เคารพ ตาม ปอ.ม. 206

วันที่ 28 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมทำหนังสือชี้แจงร้านขนมหวานที่ทำ “อาลัวรูปพระเครื่อง” จำหน่าย โดยให้เหตุผลเรื่องความไม่เหมาะสม เนื่องจากพระเครื่องเป็นวัตถุมงคล เครื่องสักการะบูชา ก่อนจะถูกโลกออนไลน์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ด้าน นายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช ทนายความ ได้แสดงความเห็นทางกฎหมายต่อเรื่องนี้ว่า หากจะมองในแง่กฎหมายอาจถือได้ว่า การทำขนมแบบนี้เข้าข่ายที่จะมีความผิดฐานดูหมิ่นเหยียดหยามวัตถุ หรือสถานที่เคารพ ตาม ปอ.ม. 206 ได้ เพราะคำว่าวัตถุหรือสถานที่เคารพ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นใครจัดสร้าง และต้องเป็นของแท้แน่นอนจากวัดประการใด

แต่การนำวัตถุซึ่งเป็นรูปพระเครื่องซึ่งหมายถึงตัวแทนพระพุทธเจ้า มาทำเป็นขนมรับประทานกัดกินแบบนี้ ยอมเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ เพราะเจตนาของกฏหมายข้อนี้มุ่งคุ้มครองความรู้สึกของชาวพุทธมากกว่า มิได้มุ่งคุ้มครองวัตถุที่สร้างขึ้นจากวัดจริง ๆ

เจอแบบนี้บอกได้คำเดียวว่าอึ้ง! โลกเรามันเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกินผ่านมาแค่สองพันปี พระพุทธเจ้าของเรากลายเป็นขนมไปซะละ แล้วอย่าบอกนะว่าคุณเห็นภาพนี้แล้ว ไม่รู้สึก

ตอนท้าย นายอานนท์ ยังอธิบายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 ระบุว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่ วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ