รัฐจี้แพลตฟอร์ม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ช่วยร้านค้าสำลัก GP ต้นทุนพุ่ง

ฟู้ดดีลิเวอรี่โตไม่หยุด ร้านเล็กโอดซ้ำรอยเดิม สำลักค่า “GP” “แกร็บ” รอ “รีจินอลออฟฟิศ” เคาะมาตรการช่วย “ไลน์แมน วงใน” ระบุให้ร้านค้าเลือกใช้ระบบแบบไม่เสียค่า GP อยู่แล้ว “โรบินฮู้ด” อัดฉีดค่าตอบแทน “ไรเดอร์” เพิ่ม จ่อนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่ารายวัน กรมการค้าภายในเรียก 11 แพลตฟอร์มดังหารือ

การกลับมาของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพราะไม่สามารถเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้ จึงต้องพึ่งการขายผ่านแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” มากขึ้น ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือ GP (gross profit) มากน้อยแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์ม เฉลี่ย 20-35% แม้บางราย เช่น โรบินฮู้ด ไม่เก็บค่า GP แต่พื้นที่การให้บริการยังจำกัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น

ร้านเล็กโอดกระอักค่า “GP”

แหล่งข่าวในธุรกิจร้านอาหารกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น แต่ค่า GP 20-35% ที่ต้องจ่ายให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเป็นต้นทุนที่สูงมาก เมื่อรวมเข้ากับค่าวัตถุดิบ ค่าแรงพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ และอื่น ๆ แทบไม่เหลือกำไร หรืออาจเข้าเนื้อก็ได้

แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้มีเงินสดเข้ามาประคับประคองธุรกิจ จึงอยากให้ภาครัฐ หรือสมาคมที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการเจรจากับเจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้รอดไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย เพราะถ้าให้รายย่อยไปเจรจาคงไม่สำเร็จ

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่สัญชาติไทย “โรบินฮู้ด” (Robinhood) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้การสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เติบโตขึ้น สะท้อนจากยอดสั่งซื้อของโรบินฮู้ดที่เพิ่มเป็น 18,000 ออร์เดอร์ต่อวัน จากต้นปียอดสั่งซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 ออร์เดอร์ต่อวันเท่านั้น

แต่ความแตกต่างจากการระบาดรอบที่แล้ว คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายออกอาการอ่อนล้าที่จะประคับประคองธุรกิจต่อ เนื่องจากเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่เติบโต

สำหรับโรบินฮู้ด ตั้งแต่เริ่มต้นไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียม หรือ GP (gross profit) กับร้านค้าอยู่แล้ว ทั้งช่วยเพิ่มเติมด้วยการโอนเงินให้ร้านภายใน 1 ชั่วโมง หลังมียอดสั่งซื้อเข้ามา เพราะต้องการให้ร้านมีเงินหมุนเวียนเร็วที่สุด

สำหรับทิศทางในปีนี้จะเน้นไปที่การมีมาตรการช่วยเหลือคนขับ (ไรเดอร์) มากขึ้น ด้วยการเพิ่มค่าบริการ และปีหน้าวางแผนนำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาให้ผู้สนใจเช่าขับส่งอาหาร และเครื่องดื่ม โดยในเบื้องต้นคิดค่าเช่า 100 กว่าบาท/วัน คาดว่าจะสร้างงานให้คนจำนวนมากได้

“โรบินฮู้ดเป็นคล้าย ๆ กับโครงการซีเอสอาร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยจะมีงบฯในการพัฒนาระบบ และทำการตลาด ปีที่แล้วใช้ไป 100 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการจากบริษัทใหญ่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ให้สามารถสร้างการเติบโตได้”

แพลตฟอร์มดังแบ่งรับแบ่งสู้

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ “ไลน์แมน วงใน” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการหารือเพื่อหามาตรการช่วยเหลือร้านค้า คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ในปัจจุบันก็มีทางเลือกให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่ไม่ต้องการเสียค่า GP เลือกใช้บริการ Non GP Model

โดยคิดค่าส่งตามระยะทางจริง ส่วนรูปแบบที่คิดค่าธรรมเนียม หรือ GP Model ร้านค้าต้องเสียค่า GP 30% จากยอดขาย รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% เป็น 32.1% แต่จะได้ค่าสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เข้าร่วมแคมเปญส่งเริ่มต้น 0 บาท และมีการโปรโมตร้านค้าบนแอปพลิเคชั่นไลน์แมน และรับเงินบน e-Payment เป็นต้น

ขณะที่ตัวแทนจากแกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างรออนุมัติมาตรการช่วยเหลือพาร์ตเนอร์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จากสำนักงานภูมิภาค คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

ด้าน นายชรี ชากราวาร์ธี กรรมการผู้จัดการใหญ่ โกเจ็ก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Gojek กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น โดยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดสั่งอาหารผ่านแอป Gojek เพิ่มเกือบ 26% จากเดือน มี.ค.

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือทุกภาคส่วนในอีโคซิสเต็มไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์คนขับรถ และผู้ประกอบการร้านอาหารต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และอยู่ระหว่างการเปิดรับร้านอาหาร และคนขับอีกจำนวนมาก รวมถึงได้ปรับปรุงระบบเพื่อให้ร้านที่เข้ามาใหม่ดำเนินธุรกิจได้ภายใน 3-7 วัน

ค้าภายในเรียกหารือ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหาร และขายสินค้าออนไลน์ 11 แห่ง ได้แก่ LINE MAN, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove

โดยทั้งหมดยืนยันว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าบริการ ทั้งมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ยอดสั่งซื้อเพิ่ม 5-10% หรือบางรายไม่เพิ่ม เนื่องจากประชาชนปรับตัวรับสถานการณ์ได้

“แต่ละรายเข้าใจสถานการณ์ และต้องการช่วยร้านค้า บางรายมีให้เลือกว่าจะจ่ายค่า GP หรือไม่ก็ได้ บางรายไม่เก็บหรือเก็บเฉพาะรายใหญ่ เรายังขอให้แพลตฟอร์มที่เก็บค่า GP พิจารณาปรับลดค่า GP เพื่อช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารในช่วงนี้ และเน้นย้ำให้รักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน”