โควิดสายพันธุ์ไทย กรมวิทย์ฯ อธิบาย ทำไมไม่ควรใช้ชื่อนี้

โควิดสายพันธุ์ไทยทำไมเรียกงั้นไม่ได้
REUTERS/Andrew Boyers

กรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์อธิบายสาเหตุ ทำไมไม่ควรเรียก “โควิดสายพันธุ์ไทย” 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ พบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ ที่มาจากประเทศไทยในอังกฤษ โดยพบในประชาชนในอังกฤษแล้ว 109 ราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้ทำให้โรคนี้มีอาการรุนแรงขึ้น หรือทำให้วัคซีนที่ใช้การอยู่ลดประสิทธิภาพลง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. เผยว่า ในที่ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ยังไม่พบเชื้อโควิค-19 กลายพันธุ์ในประเทศไทย ตามที่สื่อมวลชนอังกฤษรายงานข่าว ระบุไม่มีการส่งตัวอย่างเชื้อดังกล่าวตรวจสอบแต่อย่างใด ซึ่งการตรวจสอบการกลายพันธุ์ จะต้องได้รับการยืนยันมากกว่า 1 Lab

“ดังนั้นข่าวที่ออกมา จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพียงข้อสงสัยจากทางอังกฤษเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนจากนี้ อังกฤษควรแจ้งมายังทางการไทย เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำไปเผยแพร่” นพ.อุดมกล่าวและว่า

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยในขณะนี้ ยังไม่เอื้อต่อการกลายพันธุ์ เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อเพียง 60 คนต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่ปัจจัยที่เอื้อต่อการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ เกิดในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 75 คนต่อประชากร 1 แสนคน และเชื้อโควิดที่ระบาดในประเทศไทย นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา มากกว่าร้อยละ 95 เป็นเชื้อโควิดจากสายพันธุ์อังกฤษอีกด้วย

ข่าวสด รายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สายพันธุ์ C.36.3 Variant ที่อังกฤษรายงาน ถูกระบุชื่อในตารางสายพันธุ์ไวรัส ว่า Thailand ex Egypt โดยหลักคือ หากต้นตอมาจากอียิปต์ไม่ควรเรียกสายพันธุ์ไทย เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นพบสายพันธุ์บราซิล ตามการรายงานในตารางเขียนว่า Japan ex Brazil ก็เรียกว่าสายพันธุ์บราซิล เบื้องต้นก็ควรจะเรียกว่าสายพันธุ์อียิปต์

“ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังตรวจสอบข้อมูลว่า สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นการถอดรหัสพันธุกรรมมาจากห้องปฏิบัติการใด เบื้องต้นทราบว่าเป็นนักท่องเที่ยวมาจากประเทศอียิปต์ โดยเข้าสถานกักกันโรคในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตรวจพบเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า การรายงานลักษณะของเชื้อ เมื่อเจอที่ไหนก็เรียกชื่อตามที่เจอ ดังนั้น ที่เขียนว่า Thailand ex Egypt หมายถึงว่าเจอที่ประเทศไทย แต่ไม่ได้เจอในคนไทย แต่เป็นการเรียกตามชื่อแหล่งที่พบ ว่า เป็นที่ประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้วมาจากอียิปต์