รู้จัก “โรคไข้หูดับ” กินเนื้อหมู กึ่งสุกกึ่งดิบ อันตรายถึงชีวิต

ไข้หูดับ

เตือนภัย “ไข้หูดับ” โรคร้ายจากการกิน “เนื้อหมู สุก ๆ ดิบ ๆ” หากไม่ตายอาจพิการ 

เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เมื่อโรคสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือโรคไข้หูดับ ได้พรากชีวิตหญิงวัย 49 ปี อาศัยอยู่ใน จ.พิษณุโลก โดยแพทย์ตรวจสอบ (22 มิ.ย.) พบว่า ผู้เสียชีวิตติดเชื้อในกระแสเลือด จากการมีบาดแผลและสัมผัสเนื้อหมูจึงทำให้เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกาย

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปทำความรู้จักกับโรคไข้หูดับ อีกหนึ่งภัยร้ายที่เกิดจากการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หากใครได้รับเชื้ออาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

การค้นพบและการระบาดของโรคไข้หูดับ

การรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศเดนมาร์กในปี 2511 หลังจากนั้นก็พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการเลี้ยงหมูอย่างหนาแน่น

ต่อมาในปี 2548 มีการระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 215 ราย เสียชีวิต 38 ราย โดยประวัติผู้ป่วยส่วนใหญ่พบสัมผัสหมูหรือเนื้อหมูที่ติดเชื้อ อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะเยื่อหุ้มสมองอับเสบ และภาวะช็อก

ลักษณะของโรคไข้หูดับ

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส เป็นสาเหตุของภาวะเยื่อหุ้มในสมอง การติดเชื้อในกระแสเลือดและการสูญเสียการได้ยิน สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน จากการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบและการสัมผัสสัตว์ป่วยทำให้เชื้อเข้าทางแผลตามร่างกาย โดยส่วนมากผู้ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย

Advertisment

ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ หรือหลู้ ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่โดยทั่วไปจะพบในผู้ใหญ่ และพบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง

อาการและการก่อโรคไข้หูดับ

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายใน 3 วันจะมีอาการ ดังนี้

Advertisment
  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดตามข้อ
  • มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง
  • ซึม
  • คอแข็ง
  • ชัก
  • มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก

อีกทั้งยังนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะ toxic shock syndrome ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะพบความพิการตามมา เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง และสูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวกหรือเรียกว่า หูดับ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจะถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

การป้องกันโรคไข้หูดับ

หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หากผู้ปรุงอาหารจากเนื้อหมูมีบาดแผลที่ผิวหนัง ต้องทำการปิดแผล และสวมถุงมือขณะปรุง เลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เนื้อยุบ ก่อนประกอบอาหารควรต้มด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนไม่มีสีแดง