สธ.ลดนอน รพ.เหลือ 10 วัน ดันคนไข้กลับบ้าน เคลียร์เตียงรับวิกฤต

เตียงผู้ป่วย
FILE PHOTO : TANG CHHIN Sothy / AFP

สธ. ลดนอนโรงพยาบาลเหลือ 10 วัน จากมาตรฐานเดิม 14 วัน กักตัว-แยกตัวที่บ้าน 4 วัน เตรียมแผนชะลอแพทย์ศึกษาต่อ ระดมพยาบาลต่างจังหวัดดูแลผู้ป่วยสีแดง อาการหนัก 

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์เตียงคนไข้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ อยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่เพียงพอต่อการรับคนไข้เพิ่ม หลายโรงพยาบาลปิดรับคนไข้ และเร่งรัดให้คนไข้ออกจากโรงพยาบาล ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากในแต่ละวัน ทำให้ปัญหาเตียงไม่เพียงพอและวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ไม่สามารถขยายเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ ทุกระดับสีขณะนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เต็มศักยภาพการรับผู้ป่วยรายใหม่แล้ว

ลดวันรักษา ใน รพ.เหลือ 10 วัน เพิ่มเตียงรับผู้ป่วยสีเขียว

ล่าสุด นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวง​สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ในประเด็นดังกล่าว ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ช่อง 9 อสทม. ถึงแนวทางการแก้ไข ระบุว่า ขณะนี้กำลังพยายามปรับตามสถานการณ์รายวัน โดยใช้วิธีการแก้ปัญหาในการทำงาน อย่างแรก คือ พยายามให้มีเตียงในระดับผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง เพิ่มขึ้นด้วยส่วนหนึ่ง และตอนนี้ก็กำลังปรับแนวทางการรักษาใหม่ ที่จะไม่ผลักเฉพาะเรื่องยา แต่อาจจะปรับเรื่องของระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล

แต่เดิมการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากตรวจพบเชื้อมีการกำหนดไว้ที่ 14 วัน ซึ่งต่อไปอาจจะปรับให้เหลือ 10 วัน และให้กลับบ้านไปรักษาตัวพร้อมแยกตัวจากผู้อื่นอีก 4 วัน หากลดการนอนโรงพยาบาลได้ 4 วัน ก็จะทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยเตียงที่เพิ่มขึ้นจะรองรับในส่วนของผู้ป่วยสีเขียวก่อน และวันนี้ (24 มิ.ย.) ผู้เชี่ยวชาญกำลังหารือกัน และจะมีแนวทางออกมาใหม่ เพื่อการบริหารเตียงรับผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลดวันพักรักษาของผู้ป่วยไม่เพียงแต่ดำเนินการในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่จะรวมไปถึง Hospitel และโรงพยาบาลสนามด้วย เนื่องจากขณะนี้เตียงผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐค่อนข้างจะตึงอยู่พอสมควร แต่ในภาคเอกชนยังมีเตียงว่างอยู่เป็นหลักพัน

ระดมหมอ-พยาบาล ดูแลผู้ป่วยสีแดง

สำหรับเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดง แต่เดิมเคยมีสถานที่เตรียมพร้อมอยู่พอสมควร ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง อาจจะต้องมีการหาเตียงเพิ่มอีก 40-50 เตียง และต้องหาบุคลากรเพื่อมาทำงาน โดยขณะนี้มีแนวทางว่า จะขอร้องให้หมอที่กำลังจะไปศึกษาต่อเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านอายุรกรรม ยังไม่ให้ไปใช้ทุน เพื่อจะให้มาช่วยดูแลผู้ป่วย อีกทั้งจะระดมพยาบาลในต่างจังหวัดที่ดูแลห้องไอซียู เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงเรียนแพทย์ 2-3 แห่ง ที่ได้จัดเตรียมไว้

หากมีการระดมหมอเพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยต้องใช้จำนวนมากหรือน้อยเท่าไรนั้น นายแพทย์สมศักดิ์ระบุว่า จะมีเตียงรับผู้ป่วยประมาณ 40-50 เตียง ฉะนั้นอาจต้องการหมอเป็นจำนวนหลักร้อยคน เพราะต้องสับเปลี่ยนกันเข้าเวร และคนไข้ที่อาการหนักก็ต้องมีหมอและพยาบาลที่เชี่ยวชาญดูแลอยู่ตลอด

ข้อจำกัดของผู้ป่วยสีเขียว ที่ต้องกลับไปรักษาที่บ้านอีก 4 วัน

ทั้งนี้ แนวทางการปรับลดระยะเวลาการรักษาที่โรงพยบาลเหลือ 10 วัน และให้กลับไปรักษาต่อที่บ้านอีก 4 วันนั้น อาจจะเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางรายหรือไม่ เนื่องจากสังคมไทยอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่

นายแพทย์สมศักดิ์ระบุว่า ในส่วนนี้จะมีการประเมินเป็นรายบุคคล หรือรายกรณี หากบางคนพบว่ามีข้อจำกัดเรื่องของสถานที่ ก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน พร้อมย้ำว่า การปรับลดวันรักษาเป็นการออกไว้เป็นแนวทาง อย่างไรต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลอีกครั้ง

แพทย์เคลื่อนไหว สะท้อนปัญหา เตียงขาดแคลน

นอกจากนี้ ที่เฟซบุ๊กของ “หมอแล็บแพนด้า” ซึ่งเป็นบัญชีผู้ใช้ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ “หมอแม็กซ์” นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตโซวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยังได้โพสต์ข้อความระบุว่า มีประชาชนแจ้งปัญหาว่าตนเองติดเชื้อโควิด และนอนรออยู่ที่บ้าน เนื่องจากยังไม่มีเตียง

รวมไปถึง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แสดงความเห็นเรื่องเตียงผู้ป่วยโควิดผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน ระบุว่า

หน่วยคัดกรองของ จุฬาฯ ปิดบริการ ตั้งแต่วันที่ 24-27 มิถุนายน ทำให้ไม่มีเตียงรับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยก็มาแจ้งที่จุดบริการฉุกเฉิน หรือ ER อยู่แล้ว เพราะไปที่อื่นก็ไม่ได้รับการตรวจเช่นกัน เนื่องจากหากตรวจพบเชื้อก็ต้องรับผู้ป่วยดูแล แต่ทางโรงพยาบาลก็ไม่มีเตียงอยู่ดี จึงกลายเป็นผู้ป่วยมีอาการก่อน แล้วจึงมาจุดฉุกเฉิน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการปอดบวมแล้ว และทุกโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันหมด

หมอรามาฯยันเตียงใน กทม.-ปริมณฑลวิกฤต

นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊กถึงปัญหาการขาดแคลนเตียง มีใจความว่า บางโรงพยาบาลเริ่มไม่รับรับการตรวจแล้ว จึงทำให้คนต้องดิ้นรนกระจายไปหาที่ตรวจเอง แล้วพอเกิดการเดินทางไปมา การแพร่กระจายเชื้อโรคก็ยิ่งไปกันใหญ่

ทีนี้พอเตียงเต็ม เตียงล้น หรือเตียงไม่พอ คนไข้จากที่เป็นสีเขียว ก็กลายเป็นสีเหลือง จากสีเหลือง ก็กลายเป็นสีส้ม แดง พอส้ม หรือแดง ก็ต้องใช้ ICU/intermediate ward ต้องใช้ รพ. ศักยภาพสูงมากอีก แต่เตียง ICU เต็ม เพราะคนไข้ 1 คน นอนรักษา 1 ครั้งใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ แล้วจะเพิ่มศักยภาพอย่างไร หมอ พยาบาลก็มีจำนวนเท่าเดิม พร้อมย้ำว่า ปัญหาการหาเตียง ทั้งสามัญและ ICU ในตอนนี้ของ กทม. และปริมณฑลนั้นคือวิกฤตมาก

แพทย์หญิงรามาฯ เผยเตียงไอซียูล้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา หัวหน้าภาคเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์เตียงไอซียู เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ระบุว่า เตียงไอซียูล้น ต้องเริ่มเลือกว่าใครจะได้ไปต่อ หรือใครควรจะยุติ

ก่อนจะรีโพสต์โพสต์ดังกล่าวของตนเองอีกครั้ง วันนี้ (24 มิ.ย.) พร้อมระบุข้อความว่า ที่ออกมาโพสต์และไม่ได้ด่ารัฐบาลเนื่องจากไม่เคยคาดหวัง และเตือนประชาชนว่า การ์ดอย่าตก ส่วนหลายคนที่คิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อ ยังเป็นความเข้าใจผิด พร้อมขอให้ระมัดระวังตัวต่อไป