บิ๊กธุรกิจผวา 7 วันอันตราย คุมโควิดไม่อยู่-จี้เร่งแก้ปมวัคซีน

กทม.-ปริมณฑลโคม่า โควิดสายพันธุ์อินเดียลามหนัก ผู้ติดเชื้อ-ตายเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง หมอหวั่นวิกฤตเตียงขาดดันยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไม่หยุด จากเดือน ก.ค.ที่ 1,400 คน เป็น 2,800 คนในเดือน ก.ย. ทำระบบสาธารณสุขเดินต่อไม่ได้ จี้รื้อแผนบริหารจัดการวัคซีนพุ่งเป้ากลุ่มเสี่ยง “แอสตร้าเซนเนก้า” ผิดนัดตามคาด เผยส่งมอบได้แค่ 5-6 ล้านโดสจากเป้า 10 ล้านโดส/เดือน ธุรกิจผวายอดป่วย-ตายพุ่ง กระทุ้งรัฐเร่งฉีดวัคซีน หนุน 120 วันเปิดประเทศภูเก็ตแซนด์บอกซ์ วงการรับเหมาโอดเสียหายหมื่นล้าน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตรุนแรงกว่าที่คาด ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดระบบสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มรับไม่ไหว ผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่มีโรงพยาบาล เตียงรองรับได้เพียงพอ ต้องกักตัวรอเตียงที่บ้านเพิ่มขึ้นทุกวัน จนน่าห่วงว่าระบบสาธารสุขไทยที่ตกอยู่ในภาวะกำแพงแตกจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรง ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งในอัตราเร่งมากขึ้น ขณะที่วัคซีนหลักอย่างแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ

ล่าสุดในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเดิมจะส่งมอบให้รัฐบาลเดือนละ 10 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบตามเป้า 61 ล้านโดส จะส่งให้ได้แค่ 5-6 ล้านโดส/เดือน ทำให้รัฐอาจต้องปรับแผนการบริหารจัดการวัคซีนทั้งระบบใหม่ จากปัจจุบันที่หลายจังหวัดต้องเลื่อนระยะเวลาฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เนื่องจากได้รับจัดสรรวัคซีนจากส่วนกลางน้อย กระทบแผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นภายในประเทศปลายปีนี้ ส่งผลต่อเนื่องถึงแผนเปิดประเทศที่รัฐบาลกำหนดระยะเวลาไว้ 1 ต.ค.นี้

ขณะเดียวกันก็ทำให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ วิตกกังวลว่า ถ้าสถานการณ์โควิดขณะนี้ที่รุนแรงเกินจุดวิกฤต ภาครัฐต้องยืดระยะเวลากึ่งล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 6 จังหวัด จากที่กำหนดไว้ 1 เดือนจนถึงปลายเดือนนี้ออกไปอีก จะยิ่งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ ช่วง 7-14 วันจากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องรีบตัดสินใจก่อนสายเกินแก้

เดลต้าพิษร้าย-ยอดตายพุ่ง

วันที่ 2 ก.ค. 2564 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบาดวิทยา และที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยในงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปได้อย่างไร” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันไทยยังอยู่ในการระบาดระลอก 3 ซึ่งเดิมมีสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษ เป็นสายพันธุ์หลัก แต่การเข้ามาของสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย จะทำให้สถานการณ์ 3 เดือนจากนี้ไปแย่ลง สะท้อนจากพื้นที่แพร่ระบาดหนักเขตกรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์เดลต้ากว่า 40% คาดว่าอีก 1-2 เดือน จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยแทน จะติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.4 เท่า

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ โดยเดือน มิ.ย.มีผู้เสียชีวิต 992 คน เดือน ก.ค.คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 1,400 คน เดือน ส.ค.จะเพิ่มเป็น 2,000 คน จากนั้นเดือน ก.ย.จะเสียชีวิตสูงถึง 2,800 คน ทำให้ระบบสาธารณสุขเดินต่อไปไม่ได้

พุ่งเป้ากลุ่มเสี่ยงแก้เตียงขาด

นอกจากนี้จะเห็นว่าในกลุ่มผู้เสียชีวิตกว่า 80% เป็นผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้น หากเปลี่ยนเป้าวัคซีนจากการปูพรมฉีดในทุกกลุ่ม ซึ่งฉีดกลุ่มสูงวัยได้ราวเดือนละ 10% และมีเป้าหมายหลักหลายจุดประสงค์ ตั้งแต่เปิดโรงเรียน โรงงาน หากดำเนินตามแผนเดิมจะไม่ทันวิกฤตเตียงขาด ตนในฐานะนักวิชาการอยากเสนอให้เปลี่ยนเป้าฉีดวัคซีน โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุก่อน เพื่อลดการเสียชีวิต ลดอาการเจ็บหนัก นำไปสู่การใช้เตียงวิกฤต ห้องไอซียู โดยนำวัคซีนที่มีในมือจำกัดมาใช้กับกลุ่มดังกล่าวจึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด

“หากทำได้จะลดอัตราการเสียชีวิตลง เดือน ก.ค.จะเหลือราว 1,000 คน ส.ค.เหลือ 800 คน และเดือน ก.ย.เหลือเดือนละ 600-700 คน เฉลี่ยวันละ 20 คน อยู่ในวิสัยที่ยังรับได้ วันนี้ไม่มีเตียงไอซียูแล้ว กลุ่มคนสูงวัยและผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีประมาณ 18 ล้านคน ตอนนี้ฉีดไปแล้ว 2 ล้านคน ถ้าระดมฉีดกลุ่มนี้ใน 2 เดือน สถานการณ์จะดีขึ้น”

ซิโนแวค-แอสตร้าฯพอใช้ได้

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีวัคซีนหลัก 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยซิโนแวคนำเข้ามาเฉพาะกิจรอบที่ระบาดหนัก พบว่าได้ผลในการป้องกันโรค 71-91% หากติดเชื้อโควิดจะมีอาการน้อย ผลการศึกษาในบราซิล ในกลุ่มประชาชน 70,000-80,000 คน ในสายพันธุ์บราซิล หรือ P1 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 80-90% ส่วนผลการศึกษาจากอินโดนีเซียระบุว่า ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วยังติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มาจากสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของจีนพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เมืองกว่างโจว 166 คน ฉีดซิโนแวคแล้วลดการติดเชื้อได้ 69% ลดอาการปอดอักเสบได้ 73% ลดอาการบาดเจ็บรุนแรงจนถึงการเสียชีวิตได้ถึง 95%

ด้านวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะเป็นวัคซีนหลักของไทย ป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ได้สูงถึง 70-90% และในอินเดียมีประสิทธิภาพสูงถึง 97% ส่วนการศึกษาในสายพันธุ์เดลต้าลดการติดเชื้อได้ 80-90% ประสิทธิภาพใกล้เคียงวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงราว 94-95%

แอสตร้าฯเดือนละ 5-6 ล้านโดส

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาวัคซีนในของไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เร่งจัดหาวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส แต่ด้วยการผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ โดยสยามไบโอไซเอนซ์เพิ่งเริ่มผลิต ทำให้เดือน มิ.ย.ได้เพียง 6 ล้านโดส ส่วนเดือนต่อไปคาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนในประเทศมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15-16 ล้านโดส/เดือน แต่ด้วยข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าฯ ซึ่งต้องส่งออกวัคซีนไปประเทศอื่น ๆ แต่ละเดือนไทยจะได้แอสตร้าเซนเนก้าเพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น

สถาบันวัคซีนฯจึงพยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาเสริม โดยได้จัดหาไฟเซอร์ ซึ่งได้สั่งจองแล้ว 20 ล้านโดส เบื้องต้นคาดว่าน่าจะนำเข้ามาได้ไตรมาส 4 จากเดิมไตรมาส 3 เนื่องจากรูปแบบของบริษัทวัคซีนต้องผลิตไปพร้อม ๆ กับการส่งมอบ ประกอบกับไทยสั่งจองช้า ติดปัญหารอบด้าน ที่ขณะนี้ดีมานด์ทั่วโลกสูง ผู้ซื้อเสียเปรียบหลายด้าน จึงต้องปรึกษาหลายฝ่าย อาทิ อัยการสูงสุด คณะรัฐมนตรี

“ขณะนี้วัคซีนที่จะได้ในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้า และอยู่ระหว่างศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยฉีดยี่ห้อเดียวกัน รวมไปถึงการสลับฉีดกับวัคซีน mRNA เพื่อหาวิธีป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด”

ธุรกิจกังวลยอดป่วย-ตายพุ่ง

ในส่วนของมุมมองภาคธุรกิจ นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และการตายที่มีเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจกังวล และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะส่งผลกระทบกับธุรกิจค่อนข้างมาก ตั้งแต่การระบาดรอบแรกปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ มีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ดั้งนั้น สาธารณสุขควรหาทางหยุดวงจรติดเชื้อให้ได้

สำหรับปัญหาเรื่องวัคซีนที่รัฐบาลพยายามแก้ไข เข้าใจว่าส่วนหนึ่งมาจากความต้องการทั่วโลกที่มีมาก ทำให้วัคซีนขาดแคลน แต่วันนี้วัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมด รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งฉีดให้เร็ว ต้องจัดสรรให้เหมาะสม จัดลำดับว่ากลุ่มไหนควรได้ก่อนหรือหลัง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ภาคบริการ คนที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนเร็ว ๆ

เมื่อถามว่าจากสถานการณ์ที่หนักขึ้นจะส่งผลกระทบและอันตรายต่อเศรษฐกิจกำลังซื้ออย่าไร นายบุญชัยกล่าวว่า “เราพูดเรื่องเศรษฐกิจกำลังซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังน่าเป็นห่วง กำลังซื้อตกลงมาก รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นและประคับประคอง แต่ยังหาทางออกไม่ได้ ที่สำคัญคือ ตอนนี้คนต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด”

“ตอนนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อไหร่โควิดจะจบ เศรษฐกิจแย่ลงทุกวัน การค้าก็แย่ลง ต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ อย่างภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จากนี้ไปไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเข้ามาแล้วคุมการติดเชื้อได้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี หรือ 120 วันที่จะเปิดประเทศ ถ้ามันไม่ได้จะแย่ คนจะหมดศรัทธาในรัฐบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับควบคุมสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการประกาศล็อกดาวน์ 30 วัน โดยส่วนตัวมองว่าได้ผลไม่มากก็น้อย ดีกว่าไม่ทำอะไร ถ้าไม่ได้ผลก็มีโอกาสขยายเวลาออกไปอีก”

รับเหมาเสียหายหมื่นล้าน

สำหรับวงการรับเหมาก่อสร้าง นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) กล่าวว่า มองว่ารัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้จากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง และควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด เพราะตอนนี้รัฐไม่มีทางเลือกแล้ว จะเอาไม่อยู่ไม่ได้อีกต่อไป หากเอาไม่อยู่จะเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศ ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างประเมินความเสียหายจากมาตรการ 10,000 ล้านบาท แต่ทุกบริษัทจะถือโอกาสใน 30 วันนี้เคลียร์ตัวเองอย่างเต็มที่

โอดถูกตราหน้าเป็นต้นเหตุ

ที่ผ่านมาถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดรอบใหม่ ไม่ควบคุมแรงงานก่อสร้าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยพบการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างมาก่อน ต้นเหตุที่แท้จริงมาจากคลัสเตอร์ทองหล่อเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ ดังนั้นมาตรการรอบนี้ รัฐบาลต้องเอาให้อยู่ ไม่ฉะนั้นพวกเราจะตายกันหมด ส่วนความคืบหน้าที่ได้หารือกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สัปดาห์ที่ผ่านมา ตอนนี้มีแล้ว 2 นโยบาย คือ ชดเชยรายได้ลูกจ้างในระบบประกันสังคม 50% และกลุ่มลูกจ้างในระบบประกันสังคม สัญชาติไทย จะได้รับเงินเพิ่มเติมจากรัฐอีกรายละ 2,000 บาท ถือว่าน่าพอใจ

ที่รัฐให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเยียวยาเข้าระบบประกันสังคม ก็อยากให้รัฐยกเว้นค่าปรับและเงื่อนไขที่ต้องจ่ายสมทบก่อน 6 เดือน จึงจะเข้าเงื่อนไขรับการช่วยเหลือออกไปก่อน เพราะการเข้าระบบประกันสังคมล่าช้ามีค่าปรับ 20,000 บาท ซึ่งควรอนุโลมในสถานการณ์พิเศษนี้ ขณะที่การจัดสรรวัคซีน 200,000 โดส ที่จะฉีดให้แรงงานยังไม่มีความคืบหน้า

“ตอนนี้ขอวิงวอนให้รัฐจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ได้ตามกำหนด และทยอยฉีดให้ประชาชนโดยเร็ว ให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับคืนมา ให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติ”

เร่งฉีดวัคซีนฟื้นเชื่อมั่น

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.เจมาร์ท โมบาย กล่าวว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบมาเป็นระลอก ๆ ตั้งแต่ปีก่อนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ถ้าแพร่ระบาดลากยาวในแง่ของการเลิกจ้างงานจะเพิ่มขึ้น กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคช่วงครึ่งปีหลังแน่นอน

สำหรับมาตราการ และนโยบายที่ออกมาล่าสุด แม้ยังไม่ล็อกดาวน์ แต่ผู้บริโภคไม่เดินทางออกจากบ้าน ทำให้ทราฟฟิกของกลุ่มรีเทลลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย. หากป็นแบบนี้ต่อเนื่องในแง่ของรายได้ของหลายธุรกิจจะลดลง หากฉีดวัคซีนไม่ได้ตามแผน ไตรมาส 3 หลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในส่วนของเจมาร์ททราฟฟิกของลูกค้าหน้าร้านในไตรมาส 2 เทียบไตรมาสแรกลดลงเรื่อย ๆ ต้องเพิ่มช่องทางการขายใหม่ ๆ ทั้งออนไลน์ และช่องทางพาร์ตเนอร์ในเครืออย่างซิงเกอร์ ทำให้ในครึ่งปีแรกรายได้ยังเติบโต

กำลังซื้อวูบ-แห่ขายออนไลน์

ด้านนายชนนันท์ ปัญจทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไป ช้อปไลน์ ประเทศไทย ผู้ให้บริการระบบจัดร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซครบวงจร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคครึ่งปีหลังลดลง อาจชะลอซื้อกลุ่มสินค้าราคาสูง ๆ ไปก่อน แต่กลุ่มสินค้าจำเป็นยังคงมี ต้นปีแรกพบว่าผู้ประกอบการเปิดร้านบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการไลฟ์ขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ ออนไลน์กลายป็นช่องทางการขายหลักในสถานการณ์นี้

“มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เข้าใช้บริการระบบจัดการร้านค้าของช้อปไลน์เพิ่มขึ้น 10-15% ครึ่งปีแรก ครึ่งปีหลังนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 30-40% หากเดินหน้าฉีดวัคซีนได้ตามแผน บรรยากาศการจับจ่ายทั้งออฟไลน์ที่มีหน้าร้าน และทางออนไลน์จะฟื้น”

ขณะที่นายมารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คลาสคาเฟ่ สตาร์ตอัพร้านกาแฟ กล่าวว่า การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาได้ เพราะสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน จึงควรเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ที่พอจะแนะนำได้คือตัดคอสต์เร็วที่สุด อย่ายื้อไป อย่างคลาสคาเฟ่เอง ปิดสาขาในกรุงเทพฯทั้งหมด ลดต้นทุน หันไปโฟกัสสาขาในต่างจังหวัดที่ยังไปได้

บ้านปูลงทุนพลังงานสะอาด

ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู กล่าวว่า แม้ได้รับผลกระทบจากโควิดและเศรษฐกิจ บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายกําลังการผลิต 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดยมองหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โอกาสธุรกิจพลังงานสะอาดมีอีกมาก บ้านปูเองก็อยากลงทุนในประเทศมากขึ้น แต่การลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นต่างประเทศ สัดส่วนถ่านหินค่อย ๆ ลดลง สัดส่วนธุรกิจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ พลังงานสะอาด โดยได้หารือกับ บมจ.ปตท. ศึกษาโอกาสทางการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการลงทุนในสหรัฐ

หวั่น 7 วันรอเตียงเสียชีวิต

ก่อนหน้านี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และ กทม. เรื่องการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า พบว่าผู้ป่วยโควิดสีแดง 10 ราย ที่รอเตียง จะหาเตียงได้แค่ 2 ราย อีก 8 รายต้องรอเตียงเกิน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยอาการสีเหลืองในระบบมี 500 ราย ต้องรอเตียงเกิน 2 วัน กว่า 200 ราย ส่วนผู้ป่วยสีเขียว โทร.ขอรับเตียง 1,641 คน มี 783 คน ต้องรอนานเกิน 3 วัน และมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่บ้าน พร้อมแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในรอบ 7 วันจากนี้ไป เพราะอาจมีผู้ป่วยรอเตียงเสียชีวิตที่บ้านเพิ่ม และแม้ภาครัฐทำทุกวิถีทางเพื่อหาเตียงเพิ่ม แต่คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 7-14 วัน

รัฐต้องเร่งฉีดเดือนละ 10 ล้าน

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มเสี่ยงที่แท้จริงคือคนที่ออกไปทำงานข้างนอก จะเป็นคนวัยทำงาน ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึง ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่ว่าจะทำยังไงไม่ให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยง

ปัญหาคือการจัดหาวัคซีนยังไม่ทั่วถึง แล้วก็ไม่รวดเร็ว เเป้าหมายหากต้องการฉีดให้ประชากรทั้งประเทศได้ครบในปีนี้ เท่ากับเหลือเวลาอีก 6 เดือน แต่ตอนนี้เราฉีดไปยังไม่ถึง 10 ล้านคน ถ้ารวมกับคนต่างชาติแล้วเรายังเหลือคนที่ต้องฉีดวัคซีนอีก 60 กว่าล้านคน เฉลี่ยฉีดเดือนละ 10 ล้านคน เท่าที่ดูสปีดในการฉีดวัคซีน 1 เดือน เราได้แค่ 1-2 ล้านคน นี่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา

“เราควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ เพราะผมเชื่อว่าเงินที่เราซื้อวัคซีนมันน้อย ถ้าเทียบกับเงินที่จะต้องนำไปแก้ไขปัญหา ชดเชยอะไรต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจต่าง ๆ ก็ต้องหยุดชะงักไป ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาลกว่าค่าวัคซีน ต่อให้วัคซีนแพงเท่าไรก็ตาม”

กึ่งล็อกดาวน์แก้ที่ปลายเหตุ

ส่วนการประกาศกึ่งล็อกดาวน์ 30 วัน ถ้าหากว่าเอาไม่อยู่ ส่งผลกับอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว โดยปกติทุกเดือนเราต้องส่งมอบบ้านหรือคอนโดฯให้กับลูกค้า ถ้าเลื่อนการส่งมอบไปก็จะมีผลกระทบผู้ประกอบการไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้ปัญหาภาระหนี้ไม่ลดลง ต้นทุนดอกเบี้ยก็ไม่ลดลง นอกจากนี้คำสั่งหยุดก่อสร้าง 30 วันอาจทำให้ลูกค้าบางรายถือโอกาสนี้บอกว่าบริษัทผิดสัญญา แล้วยกเลิกสัญญาซื้อไปเลยก็ได้ หรือลูกค้าบางรายที่ขอสินเชื่อแล้วถ้ายังไม่โอนกรรมสิทธิ์ ธนาคารอาจจะให้ยื่นขอสินเชื่อใหม่ ซึ่งลูกค้าก็อาจจะมีปัญหาการกู้ไม่ผ่าน

ประเด็นสำคัญเรื่องการที่เราชะลอการก่อสร้าง จะทำให้สิ่งปลูกสร้างที่สร้างค้างไว้ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นช่วงหน้าฝน ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวบ้านได้ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลจะไม่ได้มาชดเชยอะไร ชดเชยเพียงค่าแรง 50%

“ดังนั้น เราไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในเมื่อต้นเหตุยังไม่จบ ซึ่งต้นเหตุที่แท้จริงก็คือการตรวจคัดกรอง การแยกคนป่วย การฉีดวัคซีนให้ครบ” นายอธิปกล่าว