โรงงานทำสารเคมีรั่วไหล มีโทษอย่างไร ? ผู้เสียหายเรียกร้องอะไรได้บ้าง ?

เรียกร้องเงินจากโรงงานกิ่งแก้วอย่างไร
(Photo by Handout / DISASTER RESPONSE ASSOCIATIONS THAILAND / AFP) /

กรณีเกิดเพลิงไหม้และระเบิดที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล แม้จะยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เต็มร้อย แต่เริ่มมีการพูดถึงการชดเชยค่าเสียหายแล้ว ซึ่งผู้เสียหาย มีทั้งรัฐบาลและประชาชน 

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 กรณี เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงดึกวานนี้ (5 ก.ค.) โดยมีเปลวไฟลุกไหม้รุนแรง พุ่งสู่ท้องฟ้ามองเห็นได้ในระยะไกล มีการระเบิดเป็นระยะ ๆ แรงอัดจากการระเบิดทำให้อาคารบ้านเรือนที่อยู่โดยรอบได้รับความเสียหาย และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ประกันภัยของโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล

ต่อมา สำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ ตรวจสอบการทำประกันภัยในเบื้องต้นพบว่า บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ได้ทำประกันภัยรองรับไว้ 3 กรมธรรม์ คือ

  1. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) เลขที่ DQ-11-64/000123 ทุนประกันภัย 379,320,000 บาท
  2. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก เลขที่ DQ-40-64/000041 ทุนประกันภัย 20,000,000 บาท
  3. กรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน เลขที่ DQ-84-64/000005 ทุนประกันภัย 21,584,989 บาท

เริ่มคุ้มครองวันที่ 5 เมษายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 5 เมษายน 2565 โดยมีบริษัทร่วมรับประกันภัย ได้แก่

  1. บมจ. คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย 40%
  2. บมจ. ทิพยประกันภัย 20%
  3. บมจ. นวกิจประกันภัย 20%
  4. บมจ. คิงไวประกันภัย 10%
  5. บมจ. วิริยะประกันภัย 10%

หน้าที่ของรัฐบาล

ด้าน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงาน กระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำว่า ตามที่เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้ที่โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ นั้น ผมขอให้ข้อสังเกตและความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องพอสังเขป ดังต่อไปนี้

1.หน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ต้องมีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ มีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นอกจากนี้ ในแต่ละจังหวัดก็ต้องมีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดด้วย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการจังหวัด รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดนั้น

ในกรณีของเหตุระเบิดและไฟไหม้ที่บริษัทหมิงตี้เคมีคอล จำกัดนี้ ถือเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการมีหน้าที่ต้องควบคุมและบัญชาการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น

  • แนวทางและวิธีการในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและระยะยาวเมื่อเกิดสาธารณภัย รวมถึงการอพยพประชาชน
  • มาตรการที่จำเป็นต้องใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  • การจัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้และจัดระบบการปฏิบัติการในการบรรเทาสาธารณภัย
  • การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น
  • การจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และยานพาหนะ เพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย
  • การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย การดูแลเกี่ยวกับการสาธารณสุข และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารและการสาธารณูปโภค
  • การซ่อมแซม บูรณะ ฟื้นฟู และให้ความช่วยเหลือประชาชนภายหลังที่สาธารณภัยสิ้นสุด

และในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบรรเทาสาธารณภัย รวมตลอดทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด โดยให้มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้บัญชาการและผู้อำนวยการด้วย

วิธีเรียกร้องค่าเสียหาย

2.การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทหมิงตี้ฯ

สารเคมีที่เก็บไว้ที่โรงงานของบริษัทหมิงตี้ฯ มีหลายชนิด โดยมีสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) ที่ถูกจัดอยู่ในวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 18 และเป็นสารเคมีอันตรายสูง รวมอยู่เป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งจะต้องมีการแจ้งการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามกฎหมาย

โดยตามคู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุไว้ว่า สารสไตรีนโมโนเมอร์จัดเป็นสารเคมีอันตรายสูงใน 50 อันดับแรกที่มีการนำเข้าเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทหมิงตี้ฯ นี้ จะขอกล่าวถึงการเรียกร้องค่าเสียหายโดยประชาชนผู้ได้รับความเสียหายและการเรียกร้องค่าเสียหายโดยรัฐ ดังนี้

2.1 การเรียกร้องค่าเสียหายโดยประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย

ก. การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง

ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิดและไฟไหม้ที่บริษัทหมิงตี้ฯ เช่น ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย รวมทั้งความเสียหายด้านอื่นๆ มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทหมิงตี้ฯ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ และเนื่องจากมีประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายร่วมกันของกลุ่มประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม

กลุ่มประชาชนผู้เสียหายจึงสามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ โดยประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี

ซึ่งการจะฟ้องคดีโดยผู้เสียหายทุกคนเป็นโจทก์ร่วมกันย่อมทำให้ไม่ได้รับความสะดวกเนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หรือถ้าผู้เสียหายทุกคนต่างคนต่างฟ้องคดีก็ย่อมก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทุกคน การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลด้วย

ข. การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ มาตรา 63 กำหนดให้ผู้มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองของตน และตามมาตรา 67 กำหนดอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากวัตถุอันตรายไว้ 3 ปี และถ้ามีการเจรจาตกลงในเรื่องค่าสินไหมทดแทน ให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าการเจรจาไม่อาจจะตกลงกันได้ และตามมาตรา 69/1 กำหนดว่า

หากได้มีการทำประกันความเสียหายไว้ ให้ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจากวัตถุอันตราย และให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐในการเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้น

ค. การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม

รัฐเรียกร้องค่าเสียหายได้

2.2 การเรียกร้องค่าเสียหายโดยรัฐ

ก. การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ

พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ มาตรา 69 กำหนดว่า ในกรณีที่วัตถุอันตรายก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ ถ้ารัฐได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือขจัดความเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิม ให้อัยการมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของรัฐได้ เมื่อได้รับคำร้องขอจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบวัตถุอันตราย

ข. การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ

พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษทำให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย รวมทั้งในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษและราชการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐด้วย

นอกจากนี้ มาตรา 97 กำหนดว่า บุคคลใดกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน บุคคลนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป