คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบปรับสูตรวัคซีน ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า

ปรับสูตรวัคซีน

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ 4 ประเด็น ควบคุมโควิด-19 อนุมัติปรับสูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า พร้อมเห็นชอบวัคซีนเข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นหลัก

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ว่า สถานการณ์โควิดในกทม.ปริมณฑลยังมีความน่าเป็นห่วง เราพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และมีแนวโน้มการแพร่เชื้อไปยังต่างจังหวัด

โดยเฉพาะจังหวัดที่มีโรงงาน ตลาดค้าส่ง เราคาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงใกล้ระดับหมื่นรายต่อวัน หรือประมาณ 100,000 กว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้ ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า มาตรการยาแรงที่ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ ห้ามมีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ให้มีการ Work From Home ของเอกชนและรัฐมากที่สุด และมีการปรับแผนฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรงในกทม.และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดส แต่กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังฉีดได้น้อย ไม่ครบตามที่เราตั้งเป้าไว้ จึงต้องเร่งฉีดให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด

สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณาประเด็นการควบคุมโควิด 4 ประเด็น ได้แก่

1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา โดยโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

2. ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดสได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟ่า มาเป็นเดลต้า จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น

“การบูสเตอร์ โดส จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่า การให้วัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น”

3.ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจ Rapid Antigen Test มาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง และเร็วๆนี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชนชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ก็จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวทางและจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่ง สปสช.จะร่วมมือกับโรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้

“นอกจากนี้ ยังรับทราบเรื่องหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กทม. เพื่อเข้าดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งทางกายและจิตใจ หรือผู้ป่วยที่กลับมาจากโรงพยาบาลแล้ว และจะมีชุดคัดกรอง Rapid Antigen Test ไปให้บริการถึงชุมชน ถึงบ้านที่ตัวเองอยู่ แต่เรื่องที่ยังต้องปฏิบัติคือ การดูแลป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ลดการเดินทาง ตามแนวทางที่ ศบค.กำหนดไว้ ซึ่งเรามั่นใจว่าจากมาตรการและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิดได้”