ไทยเตรียมอนุมัติให้ใช้ Antigen Test Kit ตรวจโควิดด้วยตนเอง

ไทยเตรียมอนุมัติให้ใช้ Antigen Test Kit ตรวจโควิดด้วยตนเองได้ คาดสัปดาห์หน้าเปิดขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกร

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. กระทรวงสาธารณสุข แถลงประเด็นแนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร

Rapid Antigen Test เทียบการตรวจโควิดแบบ RT-PCR

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับเรื่องการที่มารอตรวจจำนวนมาก ทางกระทรวงสาธารณสุข กรมการการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พิจารณาการนำ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดโดยเร็วที่ต้องใช้ห้องปฎิบัติการ เพราะขณะนี้เตียงพยาบาลเต็มมาก หมอและพยาบาลก็มีงานล้นมือ จึงมีข้อตกลงปรับเปลี่ยนแนวทางให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ดูแลรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (home isolation-HI) และในกรณีที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง จะจัดให้มีสถานที่เพื่อไปนอนพักรับการดูแล ที่เรียกว่า community isolation หรือ CI ซึ่งทั้ง 2 แบบจะมีระบบทางสาธารสุขเข้าไปดูแลเชื่อมต่อ มีการติดตามอาการวันละ 2 เวลา มีเครื่องวัดไข้ เครื่องให้ออกซิเจน และยา ซึ่งจะทำให้การดูแลอยู่ที่บ้านมีประสิทธิภาพดีขึ้น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ATK ยังมีปัญหาที่ต้องติดตามแก้ไขอยู่ 2 ประการ คือ 1. ATK ให้ผลประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยอมรับได้ แต่ในทางแพทย์เรากำลังหาทางปิดช่องโหว่นี้ 2. เมื่อตรวจพบผลเป็นบวก แล้วทำอย่างไร ตอนนี้ สธ. ร่วมกับทางกรุงเทพฯ ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชนจัดระบบเข้ามาดูแล

ซึ่งในระยะแรกเราจะใช้ ATK ในสถานพยาบาลก่อน โรงพยาบาล หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. เป็นต้นไป โดยประชาชนสามารถไปนำ ATK มาใช้ และขอคำแนะนำ โดยประมาณสัปดาห์หน้าจะวางจำหน่ายในร้านขายยา

ทั้งนี้ หากพบผลตรวจเป็นลบ ให้ตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วัน แต่หากผลตรวจเป็นบวกให้ติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือโรงพยาบาล โดยจะมีระบบส่งต่อ หรืออาจแนะนำให้ดูแลตัวเองที่บ้าน โดยจะมีทีมบุคลากรตามไปดูแล ที่เรียกว่าระบบบริการแบบปฐมภูมิเพื่อดูแลผู้ป่วยที่อยู่ใน HI และ CI

โดยจะร่วมกับ กทม. ภาคีเครือข่าย และคลินิกชุมชนอบอุ่น จัดทีมประมาณ 188 ทีม เพื่อไปดูแลผู้ป่วยใน กทม. มีประมาณเกือบ 200 พื้นที่ ระหว่างล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ โดยจะมีองค์ประกอบประมาณ 8 คน และมีหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้


1.ไปให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเอง ทั้งผู้ที่มีเชื้อ และไม่มีเชื้อ ระหว่างดูแลตัวเองที่บ้าน

2. ไปดูแลรักษาทั้งทางกายและใจ มียาไปให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น ฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัส แล้วแต่กรณี

3. ไปฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

และ 4. เชื่อมต่อระบบบริการให้ทันท่วงที หากพบว่าประชาชนมีการเจ็บป่วย โดยจะใช้ระบบเทเลเมดิซีนให้คำปรึกษาและหากมีอาการมากขึ้นทีมจะจัดการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า อยากให้เรียกชุดตรวจว่า Antigen Test Kit (ATK) แทน Rapid Antigen Test เพื่อลดความสับสน เนื่องจากคำว่า rapid ที่แปลว่าเร็ว คนอาจเข้าใจว่าตรวจจับไวรัสเร็ว ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นการรู้ผลเร็ว 

ปัจจุบันมี ATK ในไทยทั้งหมด 24 ยี่ห้อที่ขึ้นทะเบียนเป็น professional use หรือต้องใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ บุคคลทั่วไปไม่สามารถตรวจเองได้ แต่ทาง อย.กำลังเสนอให้ปลดล็อกตรงนี้ เพื่อให้มีจำหน่ายในร้านยา ให้ประชาชนซื้อไปตรวจได้

การตรวจโดย ATK จะทำเหมือนการตรวจแบบ Real-time PCR (RT-PCR) ได้ เช่น การใช้ก้านตรวจแยงจมูกไปจนคอหอย หรือตรวจทางโพรงจมูก หรือตรวจทางน้ำลาย ขึ้นอยู่กับชุดตรวจระบุวิธีตรวจแบบไหน โดยการตรวจชนิดนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ดังนั้น ความจำเพาะและความไว อาจจะสู้แบบ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานไม่ได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาการรอคิวตรวจนานในปัจจุบัน ดังนั้น ชุดตรวจนี้จึงช่วยได้เบื้องต้น

แต่คนที่มีอาการมาก ๆ ขอให้ตรวจแบบ RT-PCR กับหน่วยงานแพทย์ หากที่ไหนมีการรอคิวตรวจจำนวนมาก สามารถใช้ ATK ตรวจเบื้องต้นไปก่อน และหากได้ผลบวกต้องคอนเฟิร์มด้วยการตรวจแบบ RT-PCR อีกที

ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังดำเนินการกำหนดว่า สถานพยาบาลแห่งใดบ้าง ที่ประชาชนสามารถไปขอชุดตรวจ ATK มาใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่อนาคตจะเปิดช่องให้สามารถซื้อขายได้ต่อไป ก็จะมีผู้ผลิตจำนวนมากทำออกมาวางจำหน่าย จะทำให้ราคาถูกลง โดยบุคคลที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใด ๆ สามารถไปคลินิก หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอการตรวจด้วยชุด ATK ก่อน หากผลเป็นลบ แต่ไม่มีอาการต้องตรวจซ้ำ โดยให้รอ 3-5 วัน

นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า หากมีชุดตรวจ ATK วางขาย ต้องเป็นชุดตรวจที่ตรวจได้ง่าย และผู้ผลิตต้องระบุวิธีใช้ให้เข้าใจง่าย โดยขณะนี้มีชุดตรวจจำนวนหนึ่งกำลังปรับ และแจ้งขอ อย. เพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้เป็นทางเลือก

ทั้งนี้ ผู้ใช้ต้องศึกษาข้อมูลในกล่องให้ดี และการเก็บชุดตรวจต้องดี ต้องตรวจสอบวันหมดอายุ และระวังในการตรวจ ไม่ให้ปะปนกับคนอื่น ป้องกันการแพร่เชื้อ และเมื่อตรวจแล้วต้องจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ดี และต้องใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ

หากตรวจด้วยตนเองและผลตรวจออกมาเป็นบวก ต้องรีบแจ้งหน่วยบริการใกล้บ้าน และแยกกักตัวเอง รอการเข้าสู่ระบบ แต่หากผลตรวจเป็นลบ แต่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงสูง ต้องตรวจซ้ำประมาณ 3-5 วัน หากผลเป็นลบอีก ระหว่างรอหากมีอาการขึ้นมา ให้รีบตรวจซ้ำทันที หรือไปพบคลินิก

นพ.ศุภกิจกล่าวเสริมว่า ผลตรวจของ ATK ถ้าเป็นบวกก็ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับการตรวจแบบ RT-PCR คือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเชื้อในตัวน้อยอยู่ อาจจะยังไม่เจอ ดังนั้น เมื่อท่านตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าท่านไม่มีเชื้อแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องดูแลตัวเอง แล้วอีก 3 ถึง 5 วันตรวจซ้ำอีก อย่างไรก็ตามการตรวจแบบ ATK ถึงมีข้อจำกัด แต่ว่าดีกว่าการไม่ได้ตรวจ

ส่วนขยะชุดตรวจ อยากให้ช่วยหยอดน้ำยาหรือแอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อสิ่งคัดหลั่งก่อนทิ้ง ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหาเรื่องขยะติดเชื้อได้