เปิดสาระสำคัญของ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564

รายละเอียดพระราชทานอภัยโทษ 2564
ภาพจากเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงรายละเอียดและสาระสำคัญของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 นี้

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ รวมถึงเรือนจำทหาร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้โอกาสกลับตัว ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ต่อมาเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาโพสต์สรุปถึง สาระสำคัญของ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 ความว่า ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ประกอบด้วย

ผู้ต้องกักขัง ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ผู้ที่ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง อาทิ มะเร็งระยะสุดท้าย, โรคเอดส์ระยะสุดท้าย, ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้, ผู้ป่วยอัมพาต, สมองเสื่อม, สมองพิการ, ปอดอุดกั้น, โลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต, ตับวายเรื้อรัง และผู้ที่อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ที่ต้องรักษาพยาบาลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี

กลุ่มที่ 2 คือ พระราชทานอภัยโทษลดโทษ ประกอบด้วย ผู้ต้องราชทัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มแรก นักโทษทั่วไป ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ดังนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2, ชั้นดีมาก 1 ใน 3, ชั้นดี 1 ใน 4 และชั้นกลาง 1 ใน 5

ยกเว้นนักโทษเด็ดขาดตามบัญชีลักษณะความผิดท้าย พ.ร.ฎ.นี้ ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ดังนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3, ชั้นดีมาก 1 ใน 4, ชั้นดี 1 ใน 5 และชั้นกลาง 1 ใน 6 ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด

ส่วนผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ประกอบไปด้วย ผู้กระทำความผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม, นักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นต้องปรับปรุงมาก, ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดรายใหญ่ ที่รับโทษจำคุกภายหลังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 (วันที่ 5 ธันวาคม 2563) บังคับใช้ และนักโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว

มาตราที่น่าสนใจ

มาตรา 15 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิตให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 16 นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ลดโทษ และจะพ้นโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้จะต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด

มาตรา 17 ให้กระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณี ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม ดูแล และช่วยเหลือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

เป็นโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ที่มีการอบรมในหลักสูตรฝึกปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ขนาดเล็กให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีความรู้ติดตัว สามารถนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้

ทั้งนี้ เริ่มบังคับใช้ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564