ทางหลวงเปิดเพิ่ม 6 เส้นทาง วิ่ง 120 กม./ชม. วันนี้ (1 ก.ย.) เช็กที่นี่ !

ทางหลวงเปิดให้วิ่ง 6 เส้นทาง เริ่ม 1 ก.ย.
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรมทางหลวง

กรมทางหลวง เปิดเส้นทางวิ่งรถ 6 เส้นทางระยะที่ 2 เริ่มวันนี้ (1 ก.ย.) รถยนต์วิ่งได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรวจสอบเส้นทางที่นี่ !

วันที่ 1 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงได้เปิดเส้นทางเพิ่มเติมระยะที่ 2 จำนวน  6 เส้นทาง ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยรถยนต์สามารถใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อ ชม.และไม่ต่ำกว่า 100  กม.ต่อ ชม.เริ่มตั้งแต่วันนี้ (1 ก.ย.) เป็นต้นไป ดังนี้

1.ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตอนบ่อทอง-มอจะบก ระหว่าง กม.ที่ 74+500 ถึง กม. ที่ 88+000 แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 ทั้งขาเข้าและขาออก 6 ช่องจราจร ระยะทาง 13.500 กิโลเมตร

2.ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตอนหางน้ำหนองแขม-บ้านหว้า-วังไผ่ ระหว่าง กม.ที่ 306+640 ถึง กม.ที่ 330+600 แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 ทั้งขาเข้าและขาออก 8 ช่องจราจร ระยะทาง 23.960 กิโลเมตร

3.ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ตอนอ่างทอง-ไชโย-สิงห์ใต้-สิงห์เหนือ-โพนางดำออก ระหว่าง กม.ที่ 50+000 ถึง กม.ที่ 111+473 แขวงทางหลวงอ่างทอง และแขวงทางหลวงสิงห์บุรี ทั้งขาเข้าและขาออก 6 และ 8 ช่องจราจร ระยะทาง 61.473 กิโลเมตร

4.ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ตอนสนามกีฬาธูปเตมีย์ – ต่างระดับคลองหลวง – ประตูน้ำพระอินทร์ ระหว่าง กม. ที่ 35+000 ถึง กม. ที่ 45+000 แขวงทางหลวงปทุมธานี ทั้งขาเข้าและขาออก 6 ช่องจราจร ระยะทาง 10.000 กิโลเมตร

5. ทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด) ตอนบางนา-ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่าง กม.ที่ 1+500 ถึง กม.ที่ 15+000 แขวงทางหลวงสมุทรปราการ ทั้งขาเข้าและขาออก 8 ช่องจราจร ระยะทาง 13.500 กิโลเมตร

6. ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนสุวินทวงศ์) ตอนคลองหลวงแพ่ง-ฉะเชิงเทรา ระหว่าง กม.ที่ 53+300-58+320 และ กม.ที่ 62+220 ถึง กม.ที่ 63+000 แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 5.800 กิโลเมตร

วิ่ง 120 กม./ชม. ระยะแรก

กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ระบุว่า เปิดให้ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ระยะที่ 3 และ 4

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผ่านการเป็นประธานในการประชุมติดตามผลการเปิดใช้เส้นทางที่อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. และความคืบหน้าการขยายเส้นทางที่จะเปิดใช้ในระยะถัดไปด้วยระบบ Zoom Cloud Meeting

ในการประชุมได้มีการกำหนดแผนที่จะเปิดเส้นทางที่อนุญาตให้ประชาชนผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ในช่องทางขวาสุด เพิ่มเติมอีก โดยในระยะที่ 3 และ 4 มีดังนี้

  • ระยะที่ 3 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน 5 สายทาง รวมระยะทาง 65.472 กม. ประกอบด้วย
  1. ทล.4 (ช่วงเขาวัง-สระพระ) กม.160+000-กม.167+000 จ.เพชรบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร
  2. ทล.4 (ช่วงเขาวัง-สระพระ) กม.172+000-กม.183+500 จ.เพชรบุรี ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร
  3. ทล.9 (ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์) กม.23+000-กม.31+872 เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 8.872 กิโลเมตร
  4. ทล.35 (ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง) กม.56+000-กม.80+600 จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 24.6 กิโลเมตร
  5. ทล.219 (ช่วงสตึก-หัวถนน) กม.108+500-กม.122+000 จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร
  • ระยะที่ 4 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จำนวน 3 สายทาง ระยะทางรวม 48.5 กม. ประกอบด้วย
  1. ทล.1 (ช่วงหนองแค-สวนพฤกษศาสตร์พุแค) กม.79+000-กม.105+000 จ.สระบุรี ระยะทาง 26 กิโลเมตร
  2. ทล.347 (ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย) กม.1+000-กม.11+000 จ.ปทุมธานี ระยะทาง 10 กิโลเมตร
  3. ทล.219 (ช่วงสตึก-หัวถนน) กม.122+000-กม.134+500 จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร

กำหนดความเร็วของรถ 6 ประเภท

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบในหลักการให้ประกาศเป็นกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ออกตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2563 โดยกำหนดความเร็วของรถแต่ละประเภทตามที่ ขบ.ระบุไว้ 6 ประเภท ดังนี้

  1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตัวรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารที่ใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  2. รถในขณะที่ลากจูงรถคันอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  3. รถจักรยานยนต์ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  4. รถโรงเรียน หรือรถรับ–ส่งนักเรียน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  5. รถบรรทุกคนโดยสาร 7–15 คน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  6. รถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ดังกล่าวข้างต้น ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยขับในช่องทางเดินรถช่องขวาสุด และใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และกำหนดประเภทถนนที่ใช้ความเร็วดังกล่าวได้ ต้องเป็นทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป (4 ช่องจราจรไป–กลับ) มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน

สำหรับกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วไว้ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับขี่ในอัตราที่กำหนดไว้ในเครื่องหมายจราจร ทล. และ ทช. จะติดตั้งเครื่องหมายจราจรระบุว่าบริเวณใดใช้ความเร็วได้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 500 เมตร เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าเข้าพื้นที่กำหนดความเร็วแล้ว