ศบค.หวั่นผลตรวจ ATK กทม. มีผลลวง ไล่บี้ทุกจังหวัดฉีดวัคซีนหญิงท้อง

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค)
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค)

ศบค.หวั่นผลตรวจ ATK กทม. พบผลลวง 10% ห่วงหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อพุ่ง เสียชีวิตอีก 1 จี้ ทุกรพ.-จังหวัด ตามตัวฉีดวัคซีน ตั้งเป้า ก.ย. ฉีดกลุ่ม 607 ทั่วประเทศ 70% หากทุกจังหวัดฉีดครอบคลุมแล้ว ให้พิจารณาขยายฉีดกลุ่มอาชีพเสี่ยงได้

วันที่ 3 กันยายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค) แถลงสถานการณ์ประจำว่า ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยวันนี้ (3 ก.ย.) 14,653 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,220,277 ราย (ข้อมูลตั้งแต่ 1 เม.ย.64) เสียชีวิตเพิ่ม 271 ราย และเสียชีวิตสะสม 12,280 ราย (ข้อมูลตั้งแต่ 1 เม.ย.64)

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,079,966 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,249,140 ราย เสียชีวิตสะสม 12,374 ราย

วันนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่จำนวน 159,800 ราย อยู่ใน รพ. 37,770 ราย อยู่ใน รพ.สนามและอื่น ๆ 122,030 ราย มีอาการหนัก 4,740 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,011 ราย

ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ฉีดเข็ม 2 เว้น 3 เดือน

“ถ้าดูตัวเลขผู้หายป่วยหนึ่งหมื่นกว่าราย ยังคงเป็นทิศทางต่อเนื่องกับตัวเลขผู้หายป่วยซึ่งตัวเลขที่มากกว่าผู้ติดเชื้อ แล้วถ้าดูในกล่องสีเขียว จะเห็นว่า ผู้หายป่วยสะสมตอนนี้มีจำนวนเกินหลักล้าน ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางโลก ในส่วนของผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว ประมาณหนึ่งล้านกว่ารายก็ถือได้ว่า มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ”

แพทย์หญิงอภิสมัย เผยว่า มีคำถามถึงคนกลุ่มนี้ว่า หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว เมื่อครบกำหนดนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ต้องไปฉีดตามนัดหรือไม่นั้น ทางสาธารณสุขระบุว่า หลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้วเกิดการติดเชื้อ ไม่ต้องไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดเดิม แต่ให้ไปฉีดเข็ม 2 นับจากวันที่ทราบผลติดเชื้ออีก 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นหลักการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับ

“เพราะว่า ทั่วโลกยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องของโรคโควิด-19 อย่างชัดเจน หากเป็นโรคอีสุกอีใส หัดไทย หัดเยอรมัน ถ้ามีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ก็จะเกิดภูมิคุ้มกัน โดยธรรมชาติตลอดชีวิต แต่ในกรณีของโรคโควิด-19 เรายังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน จึงเป็นหลักการว่า แม้จะติดเชื้อไปแล้วหลัง 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ ขอให้มารับการฉีดวัคซีนด้วย”

พบบางจังหวัดตั้งวงดื่มเหล้า ย้ำคุมเข้มมาตรการ

สำหรับสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศ แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า หลายพื้นที่ทางภาคเหนือและบางจังหวัดทางภาคใต้ เริ่มคืนพื้นที่สีเหลือง สีเขียว และหากดูทิศทางของกราฟ (ภาพด้านล่าง) จะเห็นว่า อัตราการติดเชื้อของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เทียบกับต่างจังหวัด ขณะนี้อยู่ในทิศทางลง สัดส่วนอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง

ในส่วนของการรายงานการติดเชื้อแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ คลัสเตอร์กลุ่มเสี่ยงจะแตกต่างกันไป บางจังหวัด เป็นล้งผลไม้ แพปลา ที่มีการติดเชื้อ บางส่วนก็จะมีรายงานเพื่อนบ้าน และรวมทั้งชุมชนในบางจังหวัดที่แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

อย่างเช่น ชุมพร ยังพบการรายงานการรวมกลุ่ม ตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคงต้องเน้นย้ำทางจังหวัด เพราะว่าการตรวจสอบ ไทม์ไลน์ การรวมกลุ่มงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือแม้แต่งานประเพณี งานศพ งานแต่ง ยังเป็นจุดที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน

เป็นห่วงแคมป์ก่อสร้าง เชื้อรุกลามได้ง่าย

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังมีความเป็นห่วงจากการรายงานอย่างต่อเนื่องของ “แคมป์ก่อสร้าง” แม้ตัวเลขไม่ได้มีจำนวนสูงมาก แต่การรายงานผู้ติดเชื้อจากแคมป์ก่อสร้างมีความสำคัญ เพราะว่ามีการหมุนเวียนแรงงานจากแคมป์หนึ่ง ไปยังอีกแคมป์หนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการรุกลามของเชื้อไวรัสได้โดยง่าย

“ถึงแม้ท่านจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ไม่ได้พบการรายงานการติดเชื้อสูงในวันนี้ ขอให้การเฝ้าระวัง การลาดตระเวนยังคงเข้มงวด”

ยอดตรวจ RT-PCR กทม. พุ่งร้อยละ 30

การรายงานผู้ติดเชื้อจากกรมควบคุมโรค พบว่า ผู้ป่วยที่วอล์กอินเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลด้วยวิธีแบบ RT-PCR ในทั่วประเทศนั้น อัตราผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 20% หมายความว่า มี 10 คน เดินเข้าไปในโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ มีทางเดินหายใจผิดปกติ ทั้งไอ มีน้ำมูก และเสมหะ จะพบเป็นผลบวกติดเชื้อโควิด 2 คน

แต่หากดูเฉพาะในส่วนของ กทม. จะพบถึง 30% คือ ตรวจ 10 คน จะพบติดเชื้อโควิด 3 คน ดังนั้นจึงเน้นย้ำให้ทุกโรงพยาบาลจำเป็นต้องตรวจคัดกรองโควิดในผู้ที่มี PUI หรืออาการของระบบทางเดินหายใจ ต้องคัดกรอง 100% เพราะอัตราการพบผู้ติดเชื้อถึง 30% ในทางการแพทย์ถือว่าอยู่ในระดับสูง

ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ใน กทม. ยังพบ ผลเป็นเป็นบวกในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสิ่งสำคัญที่กรมควบคุมโรคเน้นย้ำ คือ ATK อาจจะพบผลลบลวงได้ถึง 10% คือ แม้ว่าผลเป็นลบ แต่อาจจะไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้งแล้วผลเป็นบวก

“เพราะฉะนั้นก็ยังเน้นย้ำกับประชาชนว่า หากตรวจด้วย ATK ได้ผลลบ ยังคงต้องเฝ้าระมัดระวัง สังเกตอาการ และแยกกักตัวด้วย ก็เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวัง การตรวจและเฝ้าระมัดระวังโดยเฉพาะในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ยังพบการรายงานการติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่การรายงานผลตรวจ ATK (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค) ประจำวันนี้ (3 ก.ย.) พบเข้าข่ายติดเชื้ออีกจำนวน 2,327 ราย รวมยอดสะสม 84,188 ราย

ห่วงหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูง พบเสียชีวิตอีก 1 ราย

สำหรับการรายงานยอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 271 ราย ในวันนี้ (3 ก.ย.) ซึ่งในจำนวนนี้หากนับรวมกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 62% ก็คงเป็นกลุ่มเสี่ยงเสมอ หากรวม 7 กลุ่มโรคเรื้อรังด้วย จะคิดได้เป็น 90% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด หญิงตั้งครรภ์ ที่เสียชีวิต ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ซึ่งวันนี้ (3 ก.ย.) มีการรายงานในจังหวัดนราธิวาส

ขณะที่เมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย ได้นำเสนอข้อมูลกราฟในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กรณีการพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด ซึ่งพบว่า มีการรายงานประปรายมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และพบยอดเพิ่มแบบก้าวกระโดด เมื่อเดือนสิงหาคม ถึง 1,506 ราย

“ที่น่าเสียใจที่สุด คือ มีการรายงานการเสียชีวิต ถึง 47 ราย ถ้าโดยเฉลี่ยตกประมาณวันละ 1-2 ราย นอกจากแม่เสียชีวิตเสียชีวิตก็มีรายงานทารกติดเชื้อด้วย คือ จะมีในจำนวนแม่ที่เสียชีวิต จะมีทารกเสียชีวิตพร้อมแม่ด้วย กับอีก 50% ทางสูตินรีแพทย์ ก็สามารถที่จะช่วยชีวิตทารกได้ 50% แต่อย่างไรก็ตาม ครอบครัวก็สูญเสียชีวิตของคุณแม่ไป”

จี้ ทุก รพ.เร่งตามหญิงตั้งครรภ์มาฉีดวัคซีน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และทีมนักวิชาการจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาดไทย และ กทม. ได้สรุปข้อเสนอในที่ประชุม EOC และนำเสนอ ศปก.ศบค. เมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) ว่า

ขอให้ทุกโรงพยาบาลที่รับดูแลหญิงฝากครรภ์ โดยเฉพาะหากเป็นหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ขอให้โรงพยาบาล เร่งติดตามให้มารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ และแม้ว่า คลอดไปแล้ว กลับบ้านไปแล้วก็ต้องติดตามมารับวัคซีนในช่วงที่ให้นมบุตรด้วย

นอกจากฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะมีมาตรการการดูแลรักษา ขอให้โรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ดูแลหญิงตั้งครรภ์เหล่านี้ด้วย และกรณีที่โรงพยาบาลยังไม่มีศักยภาพพอ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงศูนย์อนามัย ยังไม่มีความพร้อม ขอให้ส่งต่อตามระบบดูแลผู้ป่วยโควิด

ยกเว้นแต่กรณีฉุกเฉิน ภาวะอันตราย เช่น มีการตกเลือด น้ำเดิน ครรภ์เป็นพิษ มีการตรวจพบว่า เด็กดิ้นน้อยลง หรือมารดา เจ็บครรภ์ ขอให้โรงพยาบาลใกล้บ้าน สามารถที่จะรับดูแลให้กับหญิงตั้งครรภ์เหล่านี้

ตัวเลขการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ตัวเลขประมาณการ เป้าหมายเราจะมีหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ที่ ควรจะเข้ารับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ อยู่ที่ประมาณ 5 แสนราย ตอนนี้ ฉีดไปแล้วเพียง 4.5 หมื่นราย คิดเป็น 9.1% เท่านั้น ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดไปได้เพียง 4.9 พันราย คิดเป็น 1.0%

“คงต้องเน้นย้ำไปที่ทุกจังหวัด ที่จะต้องเร่งระดมค้นหา กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้ได้รับการฉีดวัคซีน หากท่านเป็นเพื่อนบ้าน เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง หรือว่าเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้ดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์เหล่านี้ เพราะว่าอันตรายหากเกิดการติดเชื้อ ผู้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงที่จะเกิดภาวะรุนแรงและเสียชีวิตสูงมาก”

เป้าหมายฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ครอบคลุม 70% เดือน ก.ย.

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละจังหวัด คงต้องเน้นย้ำว่า ไม่เฉพาะในหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น โดยเฉพาะ 29 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในเดือนกันยายน ประเทศไทยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนในกลุ่ม 607 ให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร

“ในส่วนของ 29 จังหวัดที่ผ่านมา การกระจายวัคซีนอาจจะไม่เป็นไปตามแผน คงต้องขออภัย เพราะว่าที่ผ่านมาก็มีวัคซีนค่อนข้างจำกัด ตั้งแต่กันยายน เป็นต้นไป จะมีวัคซีนเพียงพอ ยกตัวอย่าง สุพรรณบุรี เมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) มีการจัดส่งวัคซีนถึงพื้นที่เรียบร้อย ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดอาจจะยกเลิกการฉีด ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเร่ง ให้ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมทั่วถึง เพียงพอ”

อนุญาตจังหวัดพิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนกลุ่มอาชีพเสียง

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้ฝากแจ้งว่า เมื่อบางจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมไปพอสมควรแล้ว ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงก็ขอให้พิจารณาในกรณีการฉีดวัคซีนเพื่อวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของพื้นที่ในจังหวัด เช่น บางจังหวัดอาจจะเน้นไปที่พนักงานขนส่งสาธารณะ แคมป์ก่อสร้าง หรือสถานประกอบการที่ให้บริการร้านอาหาร ร้านตัดผม เป็นต้น ขอให้ทางจังหวัดสามารถพิจารณาได้ตามบริบทที่เห็นสมควร