อัญเชิญ 9 พระบรมราโชวาท น้อมรำลึก 6 ปีสวรรคต ในหลวง ร.9

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 13 ตุลาคม 2565

อัญเชิญ 9 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม ประชาชนทุกหมู่เหล่าล้วนรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“ประชาชาติธุรกิจ” คัดเลือก 9 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากหนังสือ ๙ ตามรอยพระยุคลบาท เรื่องชีวิตวัฒนธรรม ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มานำเสนอ ดังนี้

1) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 4 ธันวาคม 2541

2) ความรู้

“ความรู้ในวิชาการเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตัวเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัย และสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัวและความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน…”

พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา ปีการศึกษา 2514 ณ ศาลาผกาภิรมย์ พระราชวังดุสิต วันที่ 25 มีนาคม 2515

3) ความเพียร

“ความเพียรนี่หมายความว่า ไม่ใช่ความเพียรในการทำงานเท่านั้นเอง หมายถึงความเพียรที่จะข่มใจตัวเองด้วย ความกล้าหาญที่จะข่มใจตัวเองให้อดทน ไม่ใช่อดทนแล้วก็เหมือนว่าใครทำก็ทำไป เราทนเอาไว้ เท่ากับคนอื่นเขาเอาเปรียบเรา ไม่ใช่อดทนที่จะยังไม่เห็นผล อดทนที่จะทราบว่าสิ่งใดที่เราทำต้องใช้เวลา ถ้าเราอดทน หรือถ้าพูดตามธรรมดาว่า ‘เหนียว’ ไว้ อดทนในความดี ทำให้ดี เหนียวไว้ในความดีแล้ว ภายภาคหน้าได้ผลแน่…”

กระแสพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 27 ตุลาคม 2516

4) สติ

“สติ คือ ความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้นสำคัญมาก ที่จะช่วยให้บุคคลหยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะพูด จะทำ หรือแม้จะคิดอ่านในเรื่องใด ๆ อีกข้อหนึ่งที่จะช่วยให้ระลึกได้ คิดอ่านได้ถูกจุดถูกต้อง ก็คือจิตใจที่ตั้งมั่นและหนักแน่นเป็นกลาง เพราะไม่มีอคติ สองสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการศึกษาดี มีหน้าที่สูง ที่จะต้องเป็นบุคคลชั้นนำในวงงานต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต…”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสามัญประจำปี ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2527

5) ปัญญา

“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใดสามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ การขบคิดวินิจฉัยปัญหาจึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติ รู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่าง ๆ มิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุ เห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 1 สิงหาคม 2539

6) วินัย

“คนที่มีระเบียบวินัยนั้นเป็นผู้ที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่หวังดีต่อตัวเอง เป็นผู้ที่จะมีความสำเร็จในอนาคต…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ จังหวัดสงขลา วันที่ 10 กันยายน 2524

7) การเสียสละ

“ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลายให้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งได้กอบกู้รักษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรามานั้นให้จงหนัก แล้วถือเอาความสามัคคี ความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ เป็นคุณธรรมประจำอยู่เนืองนิตย์ จึงขอให้ชาวไทยทั้งหลาย จงบำเพ็ญกรณียกิจของตนแต่ละคนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทนและกล้าหาญ แล้วอุทิศความเสียสละส่วนตัว ความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้นเป็นพลีบูชาบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้ก่อสร้างชาติเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราชาวไทยจนบัดนี้…”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่กลุ่มชาวไร่หมู่บ้านตัวอย่าง โครงการไทย-อิสราเอล จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 25 พฤษภาคม 2513

8) ความสามัคคี

“สามัคคีคือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่า คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องกัน พัง…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 4 ธันวาคม 2536

9) การทำงานอย่างมีความสุข

“หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือ การไม่ทำตัว ทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตา และไมตรี ประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18 กรกฎาคม 2530