โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดการปัญหาน้ำท่วม

หลักการทรงงานในหลวง ร.9 บริหารคน-บริหารองค์กรยั่งยืน
แฟ้มภาพ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการปัญหาน้ำท่วม น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พสกนิกรทุกหมู่เหล่าน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้คัดเลือกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย เนื่องด้วยในขณะนี้หลายจังหวัดในประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม มานำเสนอ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาจแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทดังต่อไปนี้

  1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ
  2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
  3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
  4. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
  5. โครงการบรรเทาอุทกภัย

ตัวอย่างโครงการบรรเทาอุทกภัย

  1. โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คลองสนามชัย-คลองมหาชัย)

ในปี 2538 ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน และเกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและได้ทรงติดตามสถานการณ์ พิจารณาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา

โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริโครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

เนื่องจากในช่วงฤดูฝน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมาก ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลติดต่อกันหลายวัน พร้อมทั้งน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยปกติแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับน้ำได้ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ล้นตลิ่ง

แต่ในปี 2538 ช่วงฤดูน้ำหลากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 5,500 ลบ.ม./วินาที น้ำจึงล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาโครงการแก้มลิงที่สมควรดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และพื้นที่ในเขตจังหวัดสมุทรสาครและกรุงเทพมหานคร

โดย “แก้มลิง” ทำหน้าที่รวบรวมน้ำ รับน้ำ และดึงน้ำท่วมขังพื้นที่ทางตอนบนมาเก็บไว้ พร้อมกับระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก และการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกับโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2538 โดยอาศัยคลองสรรพสามิต คลองสหกรณ์ และพื้นที่บริเวณใกล้คลองดังกล่าวนั้น

จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสภาพพื้นที่โดยทั่วไปไม่เอื้ออำนวยในการทำโครงการ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงควรพิจารณาศึกษาโครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย” และคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงแทน

เนื่องจากคลองมหาชัย-คลองสนามชัยนี้ เป็นแหล่งรับน้ำใกล้บริเวณน้ำท่วมขังในเขตจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพฯ ที่ระบายน้ำลงมา ลักษณะโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่าง ๆ พร้อมด้วยสถานีสูบน้ำตามความจำเป็น ซึ่งคาดว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนไม่มากนัก และจะได้ประโยชน์คุ้มค่า

โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 76.42 ตร.กม. ใช้คลองต่าง ๆ เป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำ มีความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แห่ง กรมชลประทาน จำนวน 10 แห่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 3 แห่ง

ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงดังกล่าวมีคณะกรรมการ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และประชาชนในพื้นที่ เป็นกรรมการ ซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ของสำนักการระบายน้ำ ที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนต่าง ๆ การประเมินสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนภัย ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะเกิดแก่ประชาชนโดยรวม และสำนักการระบายน้ำจะขยายผลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโครงการต่าง ๆ ในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการในช่วงน้ำหลากจะมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง ในระบบแก้มลิงของกรมชลประทานในเขตจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด โดยมีการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยเป็นหลัก เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล โดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ

เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังสูบเครื่องละ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 12 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 36 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำออกจากคลองมหาชัย เป็นการพร่องน้ำภายในระบบแก้มลิง เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเติมตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

ส่วนในช่วงน้ำปกติ จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง เพื่อรับน้ำคุณภาพดีจากทะเลเข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิง ส่วนประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัย จะมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเปิดประตูระบายน้ำตลอด

ยกเว้นกรณีเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจะทำการปิดประตูระบายน้ำลง เมื่อน้ำทะเลไหลลงจะเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล เป็นการหมุนเวียนน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

  1. โครงการขุดลอกระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้คณะองคมนตรีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเข้าเฝ้ารับพระราชทานพระราชดำริ ณ ห้องประชุมสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

“…ให้ทุก ๆ ฝ่ายร่วมมือกันเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเร็ว ต้องเร่งขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืชในคลองตามแนวดิ่ง พิจารณาก่อสร้างทำนบและประตูระบายน้ำ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ โดยให้ระดมความร่วมมือกันในทุก ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนขุดลอกคลอง…”

  1. โครงการระบายน้ำทุ่งฝั่งตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินออกตรวจสภาพน้ำท่วมด้วยพระองค์เอง จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2523 และ 16 ธันวาคม 2523 ได้มีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าฯ เพื่อร่วมปรึกษาและพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา และมีพระราชดำริถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

“…เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว โดยผ่านแนวคลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ขยายทางน้ำหรือเปิดทางน้ำในจุดที่ผ่านทางหลวงหรือทางรถไฟ สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตชุมชนของกรุงเทพมหานคร สร้างสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กำหนดให้มีเขตพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ซึ่งสามารถแปรสภาพเป็นทางระบายน้ำได้ด้วยเมื่อมีน้ำหลาก…”

ทั้งนี้ โครงการระบายน้ำทุ่งฝั่งตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาน้ำหลากและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร

  1. โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ แก่นายปราโมทย์ ไม้กลัด อธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 สรุปความว่า

“…ให้คำนวณบริหารจัดการน้ำ โดยหลีกเลี่ยงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำทะเลหนุน และให้พิจารณาระบายน้ำออกทางด้านข้าง เช่น ฝั่งตะวันออกให้ระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยผ่านทางคลองระพีพัฒน์ ปล่อยตรงไปทางคลอง 14 ลงคลองแสนแสบ แล้วระบายออกไปทางแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์ไชยานุชิต…”