พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 อุทยานเฉลิมพระเกียรติ 279 ไร่ “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า”

พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.๙
พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.๙

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

จุดสำคัญภายในพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งถือเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

พระบรมรูปมีความสูง 5.19 เมตร เป็น 3 เท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ สูง 18.7 เมตร จะทำให้ประชาชนมองเห็นอนุสาวรีย์ได้จากถนนรอบนอกพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก

บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นรูปไข่ 2,073 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน อยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ “ป่า” และ “น้ำ”

“อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” พัฒนาจากที่ดินเดิมของสนามม้านางเลิ้ง ที่หมดสัญญาเช่าจากสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันกำลังได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่ให้เป็น “สวนสาธารณะ” แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ใจกลางเมืองของคนกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567

โครงการพัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้ง 2 พระองค์ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตามพระราชดำรัสสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำคิ้ว อ.ล่องดาว จ.สกลนคร ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ”

เมื่อสร้างแล้วเสร็จ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเป็นทั้งสวนสาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าและน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

การออกแบบภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ยังมีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อาทิ การออกแบบบ่อน้ำและสะพานเป็นเลข ๙ สะพานหยดน้ำพระทัย และสะพานไม้เจาะบากง ซึ่งจำลองมาจากสะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 ที่บ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เวลา 17.00 น.

ความสุขที่ยั่งยืน

อีกไม่ช้า อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะกลายเป็นสวนแห่งความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยและทั่วโลก ซึ่งเป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชน เพื่อเป็นสวนสาธารณะ และแหล่งความรู้ธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 279 ไร่

ในพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2564 มีการจัดแสดงนิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เผยแพร่พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้

ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้ง 2 พระองค์ผ่านองค์ความรู้ โดยนำแนวคิดหลักในการออกแบบสวนที่ประกอบด้วยผังแม่บทโครงการ จัดแสดงพื้นที่น้ำ 47 ไร่ พื้นที่สีเขียว 105 ไร่ และพื้นที่จอดรถยนต์ 700 คัน ที่จอดรถบัส 9 คัน

ดังที่กล่าว นอกเหนือจากแนวคิดการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ที่โอบล้อมด้วย “สวนป่า” ขณะที่แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์จะตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น

แนวคิดหลักของการออกแบบโครงการจะประกอบด้วย “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” รวมทั้งแนวคิดการบริหารจัดการน้ำ อาทิ แก้มลิงโครงการใหม่ บ่อน้ำเลข ๙ กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของแหล่งน้ำ ที่สิ่งมีชีพทุกสรรพสิ่งทั้งคน สัตว์ และพืชพรรณธรรมชาติ จะได้อาศัยอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางระบบนิเวศของฝายและป่าต้นน้ำอย่างแท้จริง นับเป็นสถานที่แห่งใหม่ที่จะทำให้คนไทยมีความสุขใจอย่างยั่งยืน

โดยมีการ floating solar นำพลังงานที่ได้มาใช้ในพื้นที่บางส่วนของโครงการ รวมถึงการสูบน้ำจากปลายน้ำให้หมุนเวียนกลับขึ้นมาใช้อีกครั้งให้เป็นต้นน้ำ ที่มีพันธุ์ปลาหลากหลาย ทั้งปลากระโห้ ปลากระแห ปลาตะพาก ปลาตะเพียนขาว ท่ามกลางพืชที่ชุ่มน้ำ ด้วยวิธีกรองน้ำธรรมชาติให้ไหลสู่บ่อน้ำเลข 9

สำหรับการออกแบบพรรณไม้ในโครงการนั้น มีแนวคิดที่ละเอียด นับตั้งแต่หลักการจัดวางพรรณไม้ จัดวางตำแหน่งต้นไม้ อัตราการเจริญเติบโต ไม้มงคลพระราชทาน ประจำจังหวัด 77 จังหวัด รวมไปถึงเส้นทางการคมนาคมสัญจรภายในโครงการ ประกอบด้วยเส้นทางจักรยาน 3.5 กิโลเมตร กว้าง 5 เมตร เส้นทางวิ่ง 3.5 กิโลเมตร กว้าง 6 เมตร และเส้นทางเดิน

จากวีดิทัศน์โครงการจะเห็นพื้นที่สันทนาการและสนามกีฬา ที่มีลานออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ภาพในอดีตอันทรงคุณค่า และภาพจำลองโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ทุกคนเฝ้ารอคอย