สแกนร่าง พ.ร.บ.กัญชา คุมเข้มครบ กิน-ขาย-โฆษณา

ภาพจาก pexels.com

สแกนอีกครั้ง ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง หลัง ประยุทธ์ เซ็นเห็นชอบส่งสภาพิจารณาต่อ เผยคุมเข้มครบ “บริโภค-ขาย-โฆษณา” ส่องรายละเอียดต้องรอกฎหมายประกอบอีกชั้น ก่อนสรรหา 27 อรหันต์ นั่ง “บอร์ดกัญชา” คุมหางเสือพัฒนาส่งเสริมภาพรวม

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงนามรับรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …. โดยแนบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบเรียบร้อยแล้ว

ทำให้ขั้นตอนต่อไป จะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนรษฎรทำการบรรจุร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าระเบียบวาระพิจารณาตามลำดับ ซึ่งถือว่าพรรคภูมิใจไทยใกล้ถึงเส้นชัยในการผลักดันนโยบายกัญชาเสรีมาตั้งแต่การหาเสียงช่วงเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก คนภูมิใจไทย

ซึ่งหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565

สาระสำคัญคือ การปลดล็อกกัญชาออกจากความเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% จะยังถือว่าเป็นสารเสพติด ต้องควบคุมตามเดิม

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดันนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงการพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…ของรัฐสภาเท่านั้น พรรคภูมิใจไทยก็จะเก็บแต้มตุนคะแนนไว้หาเสียงในครั้งต่อไปได้เป็นผลสำเร็จ

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปเปิดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอีกครั้งว่า มีสาระสำคัญอะไรบ้าง

45 มาตรา คุมปลูก-ขาย-โฆษณา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…มีทั้งสิ้น 45 มาตรา กำกับดูแลทั้งการปลูกใช้ในครัวเรือน ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย ซึ่งการผลิต, นำเข้า, ส่งออก และจำหน่ายต้องขออนุญาตกับเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย

ส่วนขั้นตอน, คุณสมบัติของผู้ขอ, การออกใบอนุญาต, การออกใบแทนใบอนุญาต, การต่ออายุใบอนุญาต, การแก้ไขรายการที่ได้รับอนุญาต และหน้าที่ของใบอนุญาต จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะรบุในกฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป (มาตรา 4 และ 15)

ซึ่งการขออนุญาตดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับการขายส่วนของกัญชา กัญชง สารสกัด หรือกากจากการสกัด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด

โดยในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุถึงใบอนุญาตไว้ 4 แบบคือ

  1. ใบอนุญาตปลูก มีอายุ 3 ปีตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
  2. ใบอนุญาตผลิต (สกัด) มีอายุ 3 ปีตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
  3. ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก มีอายุ 3 ปีตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
  4. ใบอนุญาตจำหน่าย มีอายุ 3 ปีตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ มีข้อกำหนดห้ามขายกับบุคคลต่อไปนี้

  1. ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี
  2. สตรีมีครรภ์
  3. สตรีให้นมบุตร
  4. บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

ส่วนการเพาะปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ตามกฎหมายระบุถึงความหมายของการบริโภคไว้ประกอบด้วย การกิน เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือในรูปลักษณะใด ๆ ซึ่งการปลูกไว้ในครัวเรือนต้องไปขออนุญาตกับ “ผู้รับจดแจ้ง” 

ผู้รับจดแจ้ง ตามกฎหมายระบุผู้มีอำนาจดแจ้งไว้ 2 คนคือ 1.ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำหรับจดแจ้งการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ในครัวเรือนเขตกรุงเทพฯ และ 2. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  สำหรับจดแจ้งการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ในครัวเรือนเขตภูมิภาค

ขณะที่รายละเอียดในการขอจดแจ้งทั้งการขอ, คุณสมบัติ, การออกใบรับการจดแจ้ง, การต่ออายุใบรับจดแจ้ง และการแก้ไขรายการ จะมีกฎกระทรวงออกตามมาภายหลัง

นอกจากการขายและใช้ในครัวเรือนแล้ว กฎหมายฉบับดังกล่าวยังควบคุมการโฆษณาด้วย โดยห้ามโฆษณาเด็ดขาดจนกว่าได้รับอนุญาต ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาต รอการร่างกฎหมายประกอบโดย คณะกรรมการกัญชา กัญชง ต่อไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล นำสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 65 ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ฉันเชียร์ภูมิใจไทย

27 อรหันต์ นั่งบอร์ดกัญชา

สำหรับ “คณะกรรมการกัญชา กัญชง” ตามกฎหมายฉบับนี้ มีขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม วิจัย พัฒนา การใช้กัญชา กัญชง ในด้านต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม การแพทย์ เป็นต้น กำหนดให้มีกรรมการ 30 คน มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเลขานุการ

กรรมการมีตั้งแต่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนับสนุนและบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย นายกสภาเภสัชกรรม มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 7 คน กำหนดให้ 3 คนมาจากภาคเอกชน นอกจากนั้นเลขาฯ อย.ในฐานะเลขานุการต้องตั้งผู้ช่วยอีกไม่เกิน 2 คน

บทเฉพาะกาล

ช่วงท้ายของร่างมีบทเฉพาะกาลกำกับไว้ด้วย สาระสำคัญคือ ในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การนำเข้ากัญชา กัญชง ให้กระทำได้เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

1. เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย
2. เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

ส่วนตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อใช้ในรูปแบบพิเศษสำหรับการเข้าถึงยาตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. 2564 ซึ่งผลิตอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

และบรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าวได้ให้ไว้ และใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้ หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ที่ออกตาม พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอดูว่าการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีผลต่อการแก้ไข พ.ร.บ.ในชั้นนิติบัญญัติหรือไม่ ตราบใดที่กฎหมายยังไม่บังคับใช้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป