รัสเซีย-ยูเครน: 5 วิธีเตรียมรับมือ หากเกิดสงครามนิวเคลียร์

สงครามนิวเคลียร์
FILE PHOTO : AlexAntropov86 / PIXABAY

อาจารย์เจษฎา เผยวิธีเตรียมตัวการรับมือมหันตภัยกัมมันตภาพรังสี หากศึกรัสเซีย-ยูเครนมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ พร้อมถอดบทเรียนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่น 

ผู้สื่อข่าวรายงาน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์เตือนเตรียมตัวรับมือมหันตภัย กัมมันตภาพรังสี หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในศึกความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน

อาจารย์เจษฎาระบุว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระดับโลกทวีปยุโรปขณะนี้ ในศึกรัสเซียกับยูเครน โดยเฉพาะที่มีการพูดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทำให้หลายคนสงสัยถามมาว่าจะต้องรับมือกับกัมมันตภาพรังสีอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นในยุโรป ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ รวมถึงคนไทยเรา คงไม่รอดชีวิตแน่ ๆ

แต่ถ้าใช้เพียงจำนวนน้อย หรือเกิดการรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกทำลาย ก็ยังพอที่ประเทศไทยเราจะยังเอาชีวิตรอดกันได้ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงระเบิด แต่น่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อม
โดยฝุ่นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดนั้นสามารถแผ่กระจายไปตามกระแสลมได้เป็นบริเวณกว้าง

รวมถึงสามารถทำให้พืชพรรณธัญญาหารและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ปนเปื้อนและเป็นพิษต่อผู้ที่บริโภคเข้าไป นำไปสู่อาการต่าง ๆ ขึ้นกับปริมาณของสารรังสีที่ได้รับไป ตั้งแต่การระคายเคือง อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง เม็ดโลหิตขาวลดลง เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตได้ถ้าได้รับเข้าไปมาก ๆ

นอกจากนี้ อาจารย์เจษฎายังได้ถอดบทเรียน กรณีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี จากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้

โดยระบุว่า ภัยของสารกัมมันตรังสีนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราอยู่ใกล้ตัวจุดที่เกิดการระเบิดนั้นแค่ไหน ถ้าอยู่เกินรัศมี 30 กิโลเมตร ก็ไม่ต้องกลัวมากจนเกินไป

ถ้าอยู่ในรัศมี 30 กม. อาจได้รับพิษกัมมันตรังสีเข้มข้นแบบเฉียบพลัน มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 50% (ที่รอดตาย ก็จะเป็นโรคมะเร็งได้) ห่างออกไปจากรัศมี 30 กม. จากการระเบิด กัมมันตภาพรังสีจะลดลงไปตามระยะทางที่ห่างออกไป แต่ก็ยังมีพิษแบบเรื้อรัง

ถ้าอยู่ใกล้กับการระเบิด เราอาจเสียชีวิตจากความร้อน เปลวไฟ และแรงระเบิด ที่ทำลายผิวหนัง เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในได้

  • รังสีขนาด 3-4 เกรย์ อาจทำให้ผิวหนังอักเสบ 2-3 สัปดาห์
  • รังสีขนาด 100 เกรย์ ทำให้ผิวหนังเน่าเป็นตุ่มนํ้าใน 1-2 สัปดาห์
  • รังสีขนาดมากกว่า 30 เกรย์ ทั้งร่างกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จากภาวะหัวใจล้มเหลวและระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย ภายใน 24-72 ชั่วโมง

นอกจากจะได้รับรังสีขนาดสูง จนอาจเกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute Radiation Syndrome) แล้ว ยังอาจจะมีอาการแบบเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป เพราะได้รับรังสีในปริมาณไม่มาก แต่สามารถทำลายดีเอ็นเอ ทำให้เกิดจากกลายพันธุ์ของยีนและนำไปสู่โรคมะเร็ง

สารกัมมันตรังสีหลายชนิด อาจจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ และนํ้าในบริเวณใกล้เคียง ที่พบบ่อยคือสารกัมมันตรังสีของไอโอดีน และซีเซียม โดยเฉพาะซีเซียม 137 มีค่าครึ่งอายุมากกว่า 30 ปี

ถ้าเกิดสัมผัสสารกัมมันตรังสี ต้องล้างการปนเปื้อนร่างกาย ถอดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวทั้งหมด ใส่ในถุงที่ปลอดภัยปิดสนิท เพื่อการทำลายอย่างถูกต้อง อาบน้ำชำระล้างร่างกายทั้งหมดให้สะอาดด้วยน้ำเย็นและสบู่อ่อน ถ้ามีบาดแผลต้องชำระล้างให้สะอาด และปิดบาดแผลป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสารรังสีอีก

ถ้าสูดอากาศ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารรังสี ให้ลดการดูดซึมของสารรังสีโดยการแทนที่ด้วยสารอื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น ถ้าได้รับไอโอดีน-125 หรือ 131 อาจใช้ “ยา SSKI หรือโพแทสเซียมไอโอไดด์” ยับยั้งไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับกับไอโอดีนรังสี (ปกติแล้วจะต้องกินก่อนที่จะได้รับรังสีเท่านั้น ถึงจะได้ผล)

แต่โพแทสเซียมไอโอไดด์ จะป้องกันสารกัมมันตรังสีได้แต่ชนิดไอโอดีนเท่านั้น ป้องกันสารกัมมันตรังสีชนิดอื่น อย่างเช่น ซีเซียม-137, ซีเซียม-134 ฯลฯ ไม่ได้ (และห้ามหาซื้อยามากินเองด้วย เพราะมีความเข้มข้นของไอโอดีนสูงมาก ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมา จะมีผลต่อหัวใจและถึงตายได้)

การนำ “เบตาดีน” มาทาคอหรือผิวหนังเพื่อป้องกันรังสีนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องทำ

ถ้ามีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจต้องให้น้ำเกลือทดแทน และให้ยาแก้อาเจียน ถ้าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ต้องให้ยาลดกรด หรืองดอาหารทางปากชั่วคราว ถ้าเป็นมาก ต้องเฝ้าระวังภาวะเม็ดเลือดต่ำจากรังสี ถ้าเม็ดเลือดขาวต่ำ จะติดเชื้อง่าย อาจฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว  ถ้าโลหิตจาง ต้องบำบัดอาการและพิจารณาให้ยาเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดง หรืออาจต้องให้เลือด

การบำบัดรักษาพิษจากรังสีนั้น จริง ๆ แล้วได้ผลไม่ดีนัก การหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยจากกัมมันตภาพรังสี

ใช้เครื่องมือตรวจสารกัมมันตรังสี เช่น ตรวจด้วยเครื่องไกเกอร์เคาน์เตอร์ ซึ่งเป็นกล่องมีเข็มวัด และมีกระบอกจี้ไปใกล้บริเวณที่สงสัยเพื่อตรวจสอบ หรืออาจใช้แผ่นฟิล์มตรวจอย่างง่าย ๆ ถ้ามีรังสี ฟิล์มจะเปลี่ยนเป็นสีดำ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือที่เปลี่ยนสี หรือเรืองแสง เวลามีรังสี ประเด็นที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนภัยให้ทันท่วงที ว่าจะมีสารกัมมันตภาพรังสีเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยเราหรือไม่

สำหรับแนวทางสำหรับการเตรียมตัวเรื่อง “หลุมหลบภัยใต้ดิน” ถ้าใครสามารถทำได้ทัน ก่อนที่จะเกิดสงครามที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้น และไทยเราอยู่ในรัศมีของสงครามด้วยจริง ๆ

5 วิธีเตรียมรับมือ

  1. เตรียมหลุมหลบภัยใต้ดิน : โอกาสรอดเดียวเมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น คือ การหลบไปอยู่ในหลุมหลบภัยใต้ดิน ซึ่งควรเตรียมสะสมเสบียงอาหารไว้ด้วย
  2. เตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม : ควรเตรียมอาหารแห้งที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พวกข้าว ถั่วทุกชนิด นมผง น้ำผึ้ง ผลไม้และผักอบแห้ง
  3. เตรียมน้ำดื่ม : แหล่งน้ำจืดบนพื้นโลกจะปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี จึงควรกักตุนน้ำจืดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ไว้ที่หลุมหลบภัย ปิดให้สนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารรังสี
  4. เตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต : ไม่ควรลืมยารักษาโรค ไฟฉาย เทปกาว ถุงดำ มีด ไฟแช็ก และหน้ากากกันแก๊สพิษ
  5. เตรียมติดตามข่าวสารต่าง ๆ : มีอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารแบบง่าย ๆ (เช่น วิทยุสื่อสาร แบตเตอรี่สำรอง) ที่ทำให้สามารถติดตามข่าวสารจากทางการได้