ศบค.อัพเดต 5 เขต กทม. ติดเชื้อโควิดสูงสุด ถกใหญ่คุมสงกรานต์ 18 มี.ค.

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด  วันที่ 7 มีนาคม 2565 เวลา 17.25 น.

ศบค.เปิดชื่อ 5 เขตใน กทม.ติดเชื้อโควิดสูงสุด “หลักสี่-บางซื่อ” นำโด่ง  เจอคลัสเตอร์ระบาดใหม่ที่เขตคลองสามวา เผย ศบค.นัดถกใหญ่ 18 มี.ค. เคาะมาตรการคุมช่วงสงกรานต์ แย้มไม่ห้ามจัดงาน ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ยังต้องคงมาตรการ VUCA เข้ม พร้อมรณรงค์เร่งฉีดเข็ม 3 ระบุ 6 ประเทศ 1 เขตบริหารในเอเชียรวมไทยยอดป่วยใหม่ยังพุ่งต่อเนื่อง

วันที่ 7 มีนาคม 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 446,612,251 ราย อาการรุนแรง 71,228 ราย รักษาหายแล้ว 379,629,953 ราย และเสียชีวิต 6,019,441 ราย

ประเทศเอเชียรวมไทยยัง “ขาขึ้น”

สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 80,917,522 ราย 2.อินเดีย จำนวน 42,967,077 ราย 3. บราซิล จำนวน 29,049,013 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 23,057,326 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 19,119,181 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 3,047,857 ราย

อย่างไรก็ตามเมื่อแยกข้อมูล 7 วันย้อนหลังล่าสุดพบว่า หลายประเทศในทวีปเอเชียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นหลายประเทศ อันดับ 1.เป็นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,461,423 ราย รองลงมาเป็นเยอรมนี จำนวน 1,099,793 ราย อันดับ 3.เป็นเวียดนาม ไต่อันดับจากอันดับที่ 7 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม โดยมีผู้ติดเชื้อ 850,148 ราย อันดับ 4.เป็นรัสเซีย อันดับ 5.เป็นญี่ปุ่น เป็นต้น

“ช่วงนี้เป็นช่วงการติดเชื้อที่เป็นขาขึ้นของทวีปในเอเชีย นอกจากเกาหลีใต้ เวียดนามแล้ว อันดับที่ 5 ก็เป็นญี่ปุ่น อันดับที่ 9 เป็นฮ่องกง อันดับที่ 13 เป็นอินโดนีเซีย อันดับที่ 15 มาเลเซีย สำหรับไทยอยู่อันดับที่ 18 มีผู้ติดเชื้อสะสมในรอบ 7 วันอยู่ที่ 157,079 ราย อัตราการเสียชีวิตต่อล้านประชากรใน 7 วัน อยู่ที่ 5”

ยอดรวม PCR บวก ATK 45,398 ราย

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศวันนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยรายใหม่ 21,162 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 824,422 ราย หายป่วยแล้ว 625,604 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 1,602 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,047,857 ราย หายป่วยแล้ว 2,794,098 ราย และเสียชีวิตสะสม 23,300 ราย

“ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ที่รายงานในระบบ PCR วันนี้อยู่ที่ 21,162 ราย และมีรายงาน ATK อยู่ที่ 24,23 ราย รวมกันก็อยู่ที่ 45,398 ราย ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่ในระดับทรง ๆ และจะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศจะน้อยกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศค่อนข้างมาก” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

นอกจากนี้เมื่อไปดูตัวเลขผู้ที่รักษาตัวมีอยู่จำนวน 230,459 ราย ในจำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่นี้อยู่ในระบบแยกกักตัวรักษาตัวที่บ้านและในชุมชนจำนวน 161,493 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 68,996 ราย ซึ่งในจำนวน 68,996 รายนี้ มีผู้ป่วยอาการหนักอยู่จำนวน 1,148 คน โดย 1 ใน 3 มีผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 375 ราย

จะเห็นได้ว่าถ้าเราเอาคนที่อยู่ใน รพ.ทั้งหมด 68,996 คน ลบด้วยคนที่อาการหนัก (1,148 ราย) ก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยก็จะอยู่ที่ 67,818 ราย คิดแล้วอยู่ที่ 98.3% ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถแยกกักรักษาตัวที่บ้าน หรือรักษาตัวในชุมชนได้ ก็ต้องขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลช่วยคัดกรองผู้ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการให้รักษาตัวที่บ้านเพื่อที่จะสงวนเตียงไว้ให้สำหรับผู้ที่มีอาการปานกลางและอาการหนัก

แนวโน้มป่วยหนัก เสียชีวิตพุ่ง

ส่วนแนวผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีจำนวนมากขึ้น ก็เนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีทิศทางเพิ่มขึ้น และวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดในการระบาดระลอกนี้คืออยู่ที่ 65 คน โดยค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตระลอกนี้อยู่ที่ 49 คน/วัน

“เพราะฉนั้นจะเห็นว่าแนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ติดเชื้อรายวันแม้จะเป็นขาขึ้น แต่ถ้าพิจารณาเป็นรายวันอาจจะเพิ่มขึ้นแบบทรง ๆ ตัว ไม่ได้พุ่งกระฉูดมาก” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

กทม.เจอคลัสเตอร์ใหม่ “ก่อสร้าง”

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อโควิดสูงสุดวันนี้ อันดับ 1.ยังเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,803 ราย เพิ่มจากวานนี้ รวมสะสม 117,870 ราย รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช 1,042 ราย 3.สมุทรปราการ 872 ราย ชลบุรี 784 ราย นนทบุรี 723 ราย สมุทรสาคร 659 ราย นครราชสีมา 614 ราย ภูเก็ต 592 ราย นครปฐม 589 ราย และพระนครศรีอยุธยา 567 ราย

นอกจาก 10 จังหวัดนี้แล้วยังมีจังหวัดที่ยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ จังหวัดที่อยู่ตามแนวขอบชายแดน ได้แก่ ตากและสระแก้ว ซึ่งในช่วง 2-3 วันมานี้มีผู้ติดเชื้อค่อย ๆ เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากช่วงนี้มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนเพิ่มขึ้น

“ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเช้านี้ กทม.รายงานว่ามีคลัสเตอร์ระบาดใหม่ เป็นคลัสเตอร์ก่อสร้าง พบในเขตคลองสามวา และ 5 เขตที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตหลักสี่ 470 ราย บางซื่อ 187 ราย หนองแขม 67 ราย เขตวัฒนา 44 ราย และเขตดินแดง 38 ราย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ส่วนผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 6 มีนาคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 20,882 รายเข็มที่ 2 จำนวน 6,597 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 54,999 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 6 มีนาคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมดจำนวน 124,916,084 โดส

ยันอัตราครองเตียงยังเหลือ

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบสูงที่สุด รวมถึงอัตราการครองเตียง สำหรับตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,148 รายในวันนี้ อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยอาการปานกลางถึงอาการหนัก หรือเตียงเหลืองแดงจะอยู่ที่ 23.3% ยังถือว่าระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับผู้ป่วยอาการระดับปานกลางและหนักได้

โดยผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 182 ราย อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 30.5% รองลงมาเป็นสมุทรปราการ นนทบุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ชลบุรี สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ (ตามตาราง) ขณะที่อัตราการครองเตียงทั้งประเทศเขียวเหลืองแดง อยู่ที่ 57.8%

ส่วนผู้เสียชีวิต 65 รายในวันนี้ เป็นชาย 34 ราย หญิง 31 ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 55 ราย คิดเป็น 85% อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง 8 ราย คิดเป็นสัดส่วน 12% รวมสองส่วนนี้คิดเป็น 97% และเป็นการติดเชื้อมาจากคนรู้จัก 21 คน ในครอบครัว 8 คน อยู่ในพื้นที่ระบาด 35 คน และเรือนจำ 1 คน และมีการกระจายไปทุกภาค และผู้เสียชีวิตวันนี้มีถึง 65% ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว (ตามกราฟิก)

ศบค.ถกใหญ่มาตรการคุมสงกรานต์ 18 มี.ค.

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า วันนี้อธิบดีกรมอนามัยได้นำเสนอมาตรการการควบคุมโรคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งในที่ประชุมของ ศบค.และศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข โดยประเด็นที่สำคัญที่จะมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีการประเมินว่าจะมีการติดโควิดจากกิจกรรมเสี่ยงใดบ้าง ตั้งแต่การเดินทางกลับภูมิลำเนา การรวมตัวของญาติพี่น้อง การพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน มีการทำกิจกรรมร่วมกัน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การสาดน้ำปะแป้ง หรือกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 50,000 ราย โดยตัวเลขน่าจะขึ้นไปสูงสุดประมาณวันที่ 19 เมษายน 2565

สำหรับสถานที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ ขนส่งสาธารณะ สถานีขนส่งทั้งเครื่องบิน รถโดยสาร รถตู้ รถประจำทาง ปั๊มน้ำมันทุกจุด จุดพักรถ นอกจากนี้สถานที่เสี่ยงสำคัญคือที่บ้าน ร้านอาหาร ศาสนสถาน รวมสถานที่ทำกิจกรรมสงกรานต์ร่วมกัน สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้ง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์

อย่างไรก็ตามในช่วงสงกรานต์นี้ที่ประชุมไม่ได้มีการห้าม หรืองดจัดหรือห้ามดินทางข้ามจังหวัด แต่ต้องอยู่ใต้มาตรการความปลอดภัย คือ VUCA คือ Vaccine, Universal Prevention, COVID Free Setting และ Antigen Test Kit

หยุดยาวสงกรานต์ ขอความร่วมมือที่บ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือป่วยเรื้อรังและเด็กเล็ก ให้มารับวัคซีนทุกเข็มให้มากขึ้น หากรับ 2 เข็มเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มกระตุ้นเข็มสาม เพราะช่วงสงกรานต์มีกิจกรรมร่วมกันค่อนข้างมาก และเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น

“นอกจากนี้ที่ประชุมมีการพูดคุยเพิ่มเติม มีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาในสถานการณ์ในช่วงนี้เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 18 มีนาคมนี้ โดยเรื่องมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการพิจารณาจาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินงานทั่วประเทศ” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวในตอนท้าย