วันสตรีสากล 8 มี.ค. มีที่มาอย่างไร ข้อเสนอเครือข่ายสตรีฯ มีอะไรบ้าง

REUTERS/Murad Sezer

เปิดที่มาวันสตรีสากล ทำไมต้องเป็นวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี และปี 2565 นี้ เครือข่ายเด็ก สตรี และป้องกันการค้ามนุษย์ มีข้อเสนออะไรถึงนายกฯบ้าง 

วันที่ 8 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) ซึ่งเดิมเรียกว่า วันสตรีแรงงานสากล (International Working Women’s Day) ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองและแสดงความนับถือต่อผู้หญิงที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งในหลายประเทศให้วันนี้ผู้หญิงหยุดงานได้

เหตุที่เป็นวันที่ 8 มีนาคม เพราะเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1857 บรรดาแรงงานหญิงราว 15,000 คน ที่ทำงานในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พากันลุกฮือและเดินขบวน ต่อต้านความไม่เป็นธรรมด้านชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงสิทธิในการเลือกตั้ง

โดยในปีต่อมาทางพรรคสังคมนิยมแห่งสหรัฐ ประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีมีการชุมนุมของบรรดาแรงงานหญิงที่ได้รับความไม่เป็นธรรม หลังจากนั้น ในปี 1975 สหประชาชาติ (United Nations) ก็ประกาศให้วันนี้เป็นวันสตรีสากล

แต่แนวคิดที่ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันสากลสำหรับทั่วโลกนั้น ข่าวสดรายงานว่ามาจากคลารา เซทคิน นักการเมืองผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมัน ที่เสนอแนวคิดในปี 1910 ต่อที่ประชุมนานาชาติของผู้หญิงทำงานในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีผู้หญิงเข้าร่วม 100 คน จาก 17 ประเทศ และทั้งหมดมีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์

การเฉลิมฉลองวันสตรีสากลครั้งแรกจึงมีขึ้นในปี 1911 ที่ประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนการฉลองครบรอบ 100 ปี มีขึ้นเมื่อปี 2011 ดังนั้น ในปีนี้จึงเป็นการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลเป็นปีที่ 110 แล้ว

วันสตรีสากลได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากยูเอ็นเมื่อปี 1975 และในปี 1996 ยูเอ็นได้กำหนดคำขวัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกว่า “เฉลิมฉลองอดีต และวางแผนเพื่ออนาคต”

วันสตรีสากลได้กลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะที่รากเหง้าทางการเมืองของวันนี้ คือ การผละงานประท้วงเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคทางเพศต่อไป

ข้อเสนอเครือข่ายสตรีฯ

วานนี้ (7 มี.ค.65) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับข้อเสนอจากคณะทำงานเครือข่ายเด็ก สตรี และป้องกันการค้ามนุษย์ เนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม

โดย น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้ประสานงานคณะทำงานเครือข่ายฯกล่าวว่า ข้อเสนอ 8 ข้อของเครือข่ายฯที่นำมายื่นเพื่อให้นำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือออกเป็นนโยบาย อาทิ

ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เร่งรัดและยกระดับคดีเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และการค้ามนุษย์ เป็นคดีพิเศษ เทียบเท่าคดียาเสพติด และอาชญากรรมร้ายแรง เนื่องจากมีเหยื่อมากมายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนและผลักดันบ่อนการพนัน สถานบริการ และบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย

น.ส.ธนวดีกล่าวต่อว่า รัฐควรจัดสวัสดิการให้แม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นรายเดือน กรณีที่ฝ่ายชายไม่รับผิดชอบค่าเลี้ยงดู อันเกิดจากการหย่าร้าง ลดพื้นที่เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาวิชาตัวของเราและร่างกายของเรา เพื่อให้เด็กรู้จักการปกป้องตัวเองจากการถูกละเมิดทางเพศ และการบูลลี่ เร่งขับเคลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ขอให้ควบคุมสื่อลามกอนาจารที่ล่อแหลม และให้มีหลักสูตรในโรงเรียน ให้เด็กเข้าใจถึงภัยที่จะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ รวมถึงขอความร่วมมือไปถึงผู้จัดทำละคร และโฆษณาคำนึงถึงการเผยแพร่ข่าวมากชู้หลายเมีย เนื้อหาตบตี ด่าทอ และการใช้อาวุธความรุนแรง เพราะจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบ

ด้าน น.ส.รัชดากล่าวว่า ขอบคุณภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กและสตรีอย่างเข้มแข็ง เป็นกำลังสำคัญสะท้อนปัญหามายังภาครัฐ ซึ่งทุกเรื่องจะนำเรียนนายกฯ ทั้งนี้ หลายเรื่องที่เสนอมานั้นรัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ เช่น การให้กระทรวงศึกษาธิการผลักดันการให้ความรู้เกี่ยวการบูลลี่ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งรัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยในโอกาสหน้าจะเสนอให้ ครม.พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่เสนอมาหากเรื่องใดสามารถดำเนินการได้ ก็จะผลักดันและแก้ปัญหาทันที