อาการไหนเข้าเกณฑ์ “ยูเซป” และ “ยูเซป พลัส” รักษาฟรี-ไม่ฟรี

โควิด

เปิดข้อมูลความต่างของลักษณะอาการเข้าเกณฑ์การรักษาฟรี ในระบบ “ยูเซป” และ “ยูเซป พลัส”

วันที่ 14 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยูเซป หรือ Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP คือ โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตามเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต

ต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคโควิด-19 หรือ “ยูเซป โควิด พลัส (UCEP COVID-19 Plus) โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

การปรับเงื่อนไขการรักษาผู้ป่วยในครั้งนี้ทำให้หลายคนยังสับสนว่า อาการของผู้ป่วยโควิด-19 ลักษณะใดบ้างที่จะเข้าข่ายรักษาฟรี หรือไม่ฟรี “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปมาให้ดังนี้

เช็กอาการเข้าเกณฑ์ ยูเซป

ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ มีดังนี้

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง
  3. ตัวเย็น เหงื่อแตก หรือมีอาการชักร่วม
  4. เจ็บหน้าอกรุนแรง เฉียบพลัน
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก มีอาการพูดไม่ชัดกะทันหัน หรือชักไม่หยุด
  6. อาการอื่น ๆ ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่จะส่งผลถึงแก่ชีวิต

โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิใน 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพ, กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

ใช้สิทธิ ยูเซป พลัส ต้องมีอาการอย่างไร

ขณะที่ ระบบยูเซป โควิด พลัส เป็นการดำเนินการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ที่ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่จนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับลักษณะอาการของผู้ป่วยที่สามารถใช้สิทธิยูเซป โควิด พลัส มีดังนี้

1. หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิมหรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

2. มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศานานกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ หรือ Oxygen Saturation แรกรับ Room Air น้อยกว่าร้อยละ 94 หรือ 39 องศา โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลพินิจของแพทย์ หรือในเด็ก

หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือรับประทานอาหารน้อยลง หรือ Exercise-induced hypoxia in COVID-19 patients: มีการลดลง Oxygen Saturation Room Air มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 3 หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงตามดุลพินิจของผู้คัดแยก

3. มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อื่น ๆ หรือตามดุลพินิจของผู้คัดแยกขั้นตอนรับบริการ

ขั้นตอนการใช้สิทธิ ยูเซป

1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เข้ารักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

2. โรงพยาบาลประเมินอาการ และคัดแยกระดับความฉุกเฉิน

3. ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล เกี่ยวกับสิทธิในการรักษาโดยสอบถามเลขบัตรประชาชน 13 หลัก

4. หากเข้าข่ายป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย


5. กรณีที่ไม่เข้าข่าย โรงพยาบาลที่รับตัวจะประสานโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่หากประสงค์จะรักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง